วันวาเลนไทน์ เป็นเทศกาลงานหนึ่งที่ไทยเรารับเอามาจากชาวตะวัน และได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่น ธรรมเนียมปฏิบัติที่นิยมในวันวาเลนไทน์คือ คนหนุ่มสาวจะใช้วันนี้เป็นโอกาสในการแสดงออกบอกความในใจ หรือทำอะไรพิเศษให้แก่กัน ในขณะที่อีกหลายๆ คู่ใช้วันนี้เป็นโอกาสขอคนรักแต่งงาน หรือถือเอาเป็นฤกษ์ดีจัดพิธีแต่งงานกันซะเลย แต่นอกจากวันวาเลนไทน์จะเป็นวันแห่งความรักแล้ว วันนี้ยังมีความเป็นมาและความหมายที่ลึกซึ้งกว่าที่หลายๆ คนคิด แต่ส่วนจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องติดตามอ่านกันเอาเองค่ะ
คงมีหลายคนสงสัยใช่มั้ยล่ะคะว่า ทำไมในทุกวันที่ 14 กุมภาพันธ์ของทุกปีจึงถูกยกให้เป็นวันแห่งความรัก และทำไมจึงมีชื่อว่า วันวาเลนไทน์
ต้นกำเนิดวันวาเลนไทน์
วันวาเลนไทน์นั้นที่จริงแล้วมีมานานตั้งแต่สมัยจักรวรรดิโรมันยังเรืองอำนาจ โดยมีรูปแบบของประเพณีเลือกคู่ เพราะการดำเนินชีวิตของชาวโรมันในยุคนั้นเด็กหนุ่มสาวจะถูกแยกจากกันอย่างเด็ดขาด แต่ในทุกวันที่ 14 กุมภาพันธ์ของทุกปี จะมีการเฉลิมฉลองเทพธิดาจูโน (Juno Februata) เทพธิดาแห่งอิสตรีและการแต่งงาน ในคืนของการเฉลิมฉลองชื่อของเด็กสาวทุกคนในหมู่บ้านจะถูกเขียนใส่เศษกระดาษเล็กๆ และนำไปหย่อนใส่ในเหยือกน้ำ เด็กหนุ่มแต่ละคนจะดึงชื่อของเด็กสาวออกจากเหยือก แล้วหลังจากนั้นก็จะจับคู่กันในงานเฉลิมฉลองและทดลองเป็นคู่รักกันในเวลา 1 ปี เพื่อศึกษานิสัยใจคอว่าสามารถเข้ากันได้หรือไม่ โดยใน 1 ปีนี้บรรดาคู่รักจะพากันขอให้เทพธิดาจูโนเป็นผู้ดูแลความรักของพวกเขาในช่วงระหว่างการทดลองเป็นคู่รักกัน ซึ่งการจับคู่นี้บางครั้งก็จบลงด้วยการแต่งงาน
ที่มาของชื่อ “วันวาเลนไทน์”
ในยุคการปกครองของจักรพรรดิคลอดิอุสที่สอง (Claudius II) นั้น กรุงโรมได้เกิดสงครามหลายครั้ง จึงจำเป็นต้องหาทหารจำนวนมากมายมหาศาลมาเข้าร่วมในศึกสงคราม แต่จักรพรรดิคลอดิอุสคิดว่า เพราะผู้ชายชาวโรมันหลายคนไม่ต้องการจากครอบครัวและคนรักไปจึงได้ประกาศให้ยกเลิกงานแต่งงานและงานหมั้นทั้งหมดที่มีในกรุงโรม แต่ในตอนนั้นได้มีนักบุญผู้ใจดีคนหนึ่งชื่อว่า ท่านนักบุญ " วาเลนไทน์ " เกิดความเห็นใจตอ่ความรักของคนหนุ่มสาวจึงได้ลับลอบจัดพิธีแต่งงานให้กับบรรดาคู่รักที่ต้องการทำพิธีแต่งงาน จากการกระทำนี้เองทำให้ นักบุญวาเลนไทน์ ถูกจับและถูกตัดสินประหารโดยการตัดศีรษะ ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ประมาณปีคริสต์ศักราชที่ 270 ซึ่งถือเป็นวันที่ท่านได้ทนทุกข์ทรมานและเสียสละเพื่อเพื่อนมนุษย์
แม้ว่านักบุญวาเลนไทน์ จะถูกนำชื่อมาใช้ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ แต่ว่านักบุญวาเลนไทน์กลับไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเพณีเลือกคู่ของชาวโรมันแต่อย่างใด แต่ที่ชื่อของท่านกลายมาเป็นชื่อเรียกขานของวันแห่งความรักนี้ก็เป็นเพราะว่า
หลังจากยุคของจักรพรรดิคลอดิอุสที่สอง ผ่านไปหลายร้อยปีจะเข้าสู่ช่วงปลายศตวรรษที่ 4 ชาวโรมันส่วนใหญ่หันมานับถือศาสนาคริสต์ แต่ประเพณีจับคู่ของหนุ่มสาวเพื่อทดลองเป็นคนรักกันในทุกวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ก็ยังนิยมทำกันอยู่ เพียงแต่ว่าหนุ่มสาวโรมันชาวคริสต์ได้หันมาเปลี่ยนตัวผู้อุปถัมภ์องค์ใหม่ เพราะคริสตชนนั้นจะไม่นับถือเทพเจ้าหรือเทพธิดา พวกเขาจึงหันมาเลือกนักบุญในคริสตศาสนาที่มีวันฉลองในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งก็มีนักบุญวาเลนไทน์องค์นี้เอง ชาวโรมันจึงได้นำท่านมาเป็นองค์อุปถัมภ์องค์ใหม่แทนเทพเจ้าองค์และนำชื่อของท่านมาใช้เป็นชื่อเรียกของวันนี้ ดังนั้นที่มาของวันวาเลนไทน์ จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวของท่านนักบุญวาเลนไทน์ แต่เป็นเพราะความสำคัญอยู่ที่เป็นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ต่างหาก
ความหมายที่แท้จริงของวันวาเลนไทน์
ความหมายของวันวาเลนไทน์ไม่ใช่เพื่อให้คนได้แสดงรักต่อกัน แต่เพราะความเชื่อที่ว่า ความรักระหว่างหนุ่มสาวนั้นอาจจะเผชิญกับอันตรายบางอย่าง และอาจจะเป็นโอกาสให้พลังและความรักนั้นทำลายความสัมพันธ์อันสูงส่งระหว่างหนุ่มสาวไป ดังนั้นความหมายของการมี วันวาเลนไทน์ ก็คือการช่วยให้หนุ่มสาวหาวิธีการเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันด้วยใจบริสุทธิ์
ดังจะเห็นได้จากคำว่า “You are my Valentine” ที่มักจะเขียนลงในการ์ดที่มอบให้แก่กัน ซึ่งประโยคนี้ตามความหมายเดิม มีความหมายว่า “ข้าพเจ้าขอเสนอตัวเป็นเพื่อนสนิทของท่านในช่วงเวลา 1 ปี และข้าพเจ้าพร้อมที่จะตกลงแต่งงานกับท่าน ถ้ามิตรภาพของเรานี้เป็นสิ่งที่ยืนยง”
ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างหนุ่มสาวที่จะช่วยให้ก้าวหน้าในความรักที่แท้จริงนั้น ก็ควรจะประกอบด้วย 3 ข้อด้วยกัน ดังนี้
1. ให้รู้จักกันทั้งในด้านดี ในด้านเสีย และข้อผิดพลาดซึ่งต่างก็มีอยู่ และยอมรับซึ่งกันและกันในข้อเหล่านั้น
2. ให้เคารพและเห็นใจกัน โดยเสียสละต่อกันเพื่อให้คนรักของตนได้รับความดี และความสุขใจในทางที่บริสุทธิ์งดงาม
3. ให้มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงนิสัยของตนในส่วนที่บกพร่อง เพื่อจะอยู่กันด้วยความสุขในอนาคต
ลักษณะทั้งสามดังกล่าวนี้ คงจะเป็นประโยชน์สำหรับหนุ่มสาวไทย ไม่เฉพาะในวันวาเลนไทน์หรือสำหรับกลุ่มที่นิยมประเพณีต่างประเทศเท่านั้น แต่สำหรับทุกคู่ที่แสวงหาวิธีการเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันอัน จะนำไปสู่ความรักที่มั่นคงและยั่งยืนชั่วชีวิต
สัญลักษณ์ของวันวาเลนไทน์
สัญลักษณ์ของวันวาเลนไทน์คือ เทพเจ้าคิวปิด ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความรักดั้งเดิมของชาวโรมัน คิวปิดมีลักษณะเป็นเด็กน่ารักมีปีกอยู่ข้างหลัง ในมือถือคันธนูกับลูกศร มีชื่อเสียงในเรื่องการยิงศรรักปักหัวใจของใครต่อใคร ศรรักของ คิวปิด หมายถึงความปรารถนาและอารมณ์แห่งความรัก คิวปิด จะเล็งลูกศรไปที่พระเจ้าและมนุษย์เพื่อทำให้พระเจ้ากับมนุษย์รักกัน ตามตำนานของกรีกและโรมันพูดถึงคิวปิดว่า เป็นบุตรของมาร์ เทพเจ้าของสงคราม และวีนัส เทพเจ้าแห่งความงามและความรัก
ในตำนานความรักของเทพเจ้าคิวปิดนั้นมีอยู่ว่า ในเวลานั้นมีกษัตริย์องค์หนึ่ง มีธิดาชื่อว่าไซกี เป็นหญิงสาวที่มีความงดงามมาก จนทำให้เทพเจ้าวีนัสเกิดความอิจฉา นางจึงสั่งให้เทพเจ้าคิวปิดไปลงโทษไซกี แต่แทนที่จะลงโทษเทพเจ้าคิวปิดกลับหลงรักไซกีและพานางกลับมาที่วัง โดยจะมาหานางเฉพาะในเวลากลางคืนเพื่อไม่ให้ไซกีรู้ว่าตนเองเป็นใคร ทั้งสั่งห้ามไม่ให้ไซกีมองหน้าตนเองอีกด้วย แต่ไซกีกลับจุดตะเกียงเพื่อแอบดูหน้าเทพเจ้าคิวปิดในขณะนอนหลับ ทำให้เห็นว่าเทพเจ้าคิวปิดเป็นหนุ่มรูปงาม ด้วยความตื่นเต้นทำให้ไซกีทำน้ำมันในตะเกียงหยดใส่จนให้เทพเจ้าคิวปิดรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาพบว่าไซกีผิดสัญญา จึงโกรธมากที่นางขัดคำสั่งและไม่กลับมาหานางอีกเลย เมื่อถูกคิวปิดทิ้งไป ไซกีก็ออกตามหาเทพเจ้าคิวปิด ซึ่งตลอดเวลาไซกีถูกเทพเจ้าวีนัสกลั่นแกล้งต่างๆ นานา จนเทพเจ้าคิวปิดเห็นใจต้องเข้ามาช่วย เทพเจ้าจูปิเตอร์เห็นใจจึงช่วยให้ทั้งสองได้ครองรักกัน
ดอกไม้วันวาเลนไทน์
บางครั้งการแสดงความรู้สึกก็ยากที่จะพูดออกมา ดอกไม้จึงกลายเป็นสื่อแทนใจ บอกความรู้สึกที่มีต่อกัน โดยไม่จำกัดเพศ วัย หรือสื่อแทนใจเฉพาะแต่ความรักของคนหนุ่มสาวเท่านั้น
กุหลาบตูม แทนความหมาย ความรักและความเยาว์วัย
กุหลาบบาน แทนความหมาย ความรักที่กำลังเบ่งบาน ความอ่อนหวาน สดชื่น
กุหลาบดำ แทนความหมาย ความรักนิรันดร์
กุหลาบแดง (red rose) แทนความหมาย ความรักอันลึกซึ้ง จริงจัง บรรดาชายหนุ่มจึงมักจะให้กุหลาบแดงต่อหญิงสาวเพื่อแทนคำพูดว่า "ฉันรักเธอ"
กุหลาบขาว (white rose) แทนความหมาย ความรักอันบริสุทธิ์ ไม่ต้องการสิ่งตอบแทน ดังนั้นกุหลาบสีขาวจึงมักเป็นตัวแทนความรักของคนต่างวัย ความรักที่มีต่อพ่อแม่ ต่อเพื่อน หรือคนที่เรามีความรู้สึกดีๆ อย่างบริสุทธิ์ใจ
กุหลาบชมพู (pink rose) แทนความหมาย ความรักแบบโรแมนติก ความเสน่หาต่อกัน การให้ดอกกุหลาบสีชมพูก็เพื่อแสดงถึงความรักที่กำลังเริ่มงอกงามในใจ และสามารถพัฒนาต่อไปเป็นความรักที่ลึกซึ้งได้
กุหลาบเหลือง (yellow rose) แทนความหมาย ความรักแบบเพื่อน และความสนุกสนานรื่นเริง เพราะสีเหลืองเป็นสีแห่งความสดใส คนจึงนิยมนำกุหลาบสีเหลืองไปใช้เยี่ยมผู้ป่วย เพื่อทำให้คนป่วยรู้สึกสดชื่นขึ้นนั่นเอง
ดอกทิวลิบสีแดง (red tulib) ชาวตะวันตกนิยมนำมาใช้ในการประกาศความรักอย่างเปิดเผย ให้ความหมายคล้ายๆ ดอกกุหลาบสีแดง
ดอกคาร์เนชั่นสีชมพู (pink carnation) ใช้แทนความหมาย "ถึงอย่างไรฉันก็ยังรักคุณ" หรือ "คุณยังอยู่ในหัวใจฉันเสมอ"
ดอกลิลลี่สีขาว (white lilly) แทนความหมาย ความรักแบบบริสุทธ์ เช่นเดียวกันกับดอกกุหลาบขาว นอกจากนั้นลิลลี่สีขาวยังแสดงถึงความรักแบบอ่อนหวาน จริงใจ มักถูกใช้แทนประโยคที่ว่า "ฉันรู้สึกดีที่ได้รู้จักและอยู่ใกล้คุณ "
ดอกทานตะวัน (sunflower) แทนความหมาย ความรักแบบคลั่งไคล้ ความรักแบบเทิดทูนบูชา สำหรับชาวตะวันตก ดอกทานตะวันจะหมายถึงความเข้มแข็งอดทน จึงสามารถใช้แทนความรักที่ต้องฝ่าฟันกว่าจะได้ความรักมาก็ได้เช่นกัน
ดอก forget-me-not มีความหมายตรงตัวคือ ได้โปรดอย่าลืมฉัน และอย่าลืมความรู้สึกดีๆ ที่เคยมีให้กัน
แม้เมื่อวันเวลาผ่านไป ดอกไม้จะแห้งเหี่ยวลง แต่ความหมายของดอกไม้จะยังคงอยู่ตลอดไป วาเลนไทน์นี้อย่าลืมมอบดอกไม้ให้คนที่คุณรักนะคะ
วันวาเลนไทน์กับธรรมเนียมการมอบช็อกโกแลต
ธรรมเนียมการมอบช็อกโกแลตเกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น โดยฝ่ายหญิงนิยมที่จะมอบช็อกโกแลตให้กับฝ่ายชาย ส่วนผู้ชายจะมอบของขวัญตอบแทนให้กับผู้หญิงในวันที่ 14 มีนาคม ซึ่งเรียกวันนั้นว่า White Day หรือ วันสีขาว
ความนิยมการมอบช็อกโกแลตนั้นเกิดขึ้นมาจากบริษัทผลิตช็อกโกแลตหวังทำการตลาดโดยผู้หญิงญี่ปุ่นถูกกระตุ้นให้บอกรักอย่างชัดเจนกับผู้ชายด้วยการมอบช็อกโกแลตและ ของขวัญชนิดอื่นในวันที่ 14 กุมภาของทุกปี ทำให้ตามร้านขายของชำ ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อจะนำช็อกโกแลตหลากหลายแบบออกมาวางขาย ไม่ว่าจะเป็นช็อกโกแลตที่ผลิตในประเทศหรือนำเข้ามาจากต่างประเทศ ทำให้ยอดขายของช็อกโกแลตในวันวาเลนไทน์มียอดขายมากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดขายช็อกโกแลตทั้งปี เพราะผู้หญิงที่ญี่ปุ่นจะซื้อช็อกโกแลตเพื่อแจกให้กับทั้งเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า เพื่อนชาย พี่ชาย คุณพ่อ สามี แฟน และผู้ชายที่เธอรู้จักและมีความยินดีที่จะมอบให้
ช็อกโกแลตที่ผู้หญิงมอบให้ผู้ชายที่ไม่ใช่คนรัก จะถูกเรียกว่า “giri-choco” แปลว่า ช็อกโกแลตที่ให้ตามหน้าที่ หรือ ช็อกโกแลตตามมารยาท และผู้ชายส่วนใหญ่จะรู้สึกอับอายอย่างมากถ้าพวกเขาไม่ได้รับช็อกโกแลตในวันนั้น พวกผู้หญิงจึงพยายามมอบ giri-choco ให้กับผู้ชายทุกคนที่รู้จัก เพื่อไม่ให้ผู้ชายรู้สึกว่าตัวเขานั้นไม่ได้รับการใส่ใจ ราคาโดยเฉลี่ยของ giri-choco ตกประมาณอันละ 100 – 300 เยน
ส่วนผู้ชายคนพิเศษนั้น พวกผู้หญิงจะให้ช็อกโกแลตที่เรียกว่า "honmei-choco" แปลว่า ผู้ชนะที่คาดหวังไว้ (prospective winner) ควบคู่ไปกับของขวัญ เช่น เนคไทค์ หรือเสื้อผ้า ซึ่งช็อกโกแลตชนิดนี้จะมีราคาที่แพงกว่า giri-choco แต่ผู้หญิงบางคนจะทำช็อกโกแลต Honmei-choco ขึ้นมาเอง ซึ่งผู้ชายที่ได้รับจะถือว่าโชคดีมาก และผู้ชายบางคนจะพอใจช็อกโกแลตที่ทำขึ้นเองมากกว่า เพราะมันจะแสดงออกถึงความตั้งใจของคนทำนั่นเอง