วันแต่งงานงานถือเป็นวันสำคัญยิ่งของคู่รัก แม้ว่าการแต่งงานจะมีความแตกต่างกันออกไปตามประเพณีวัฒนธรรม ความเชื่อ วิถีชีวิตในแต่ละท้องถิ่น แม้กระทั่งประเพณีการแต่งงานของไทยเองก็ตามที่แม้จะดูเรียบง่าย แต่ก็แฝงไว้ด้วยความหมายในทุกขั้นตอน ในทุกกระบวนการ
ประเพณีแต่งงานมีความสำคัญอย่างไรกับคนไทย
สำหรับคนไทย ประเพณีแต่งงานนับว่ามีความสำคัญสำหรับการเริ่มต้นการใช้ชีวิตคู่เป็นอย่างมาก นอกจากว่าจะเป็นวันประกาศให้สังคมได้รับรู้ถึงการเริ่มต้นการใช้ชีวิตร่วมกัน การแต่งงานยังนับว่าเป็นการให้เกียรติฝ่ายหญิง พ่อแม่และญาติพี่น้องของฝ่ายหญิงด้วย การไปอยู่กินด้วยกันเฉยๆ หรือหนีตามกันไปนั้นคนไทยจะถือมาก การแต่งงานที่ถูกต้องตามประเพณีไทยจะต้องมีการมาสู่ขอกันตามประเพณีเสียก่อน ซึ่งพิธีการสู่ขอ และแต่งงานมีลำดับขั้นตอนและความหมายดังนี้
1. การสู่ขอ เป็นจุดเริ่มต้นของประเพณีแต่งงานแบบไทย โดยฝ่ายชายจะต้องส่งผู้ใหญ่มาทาบทามกับผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง ถ้าฝ่ายหญิงตอบตกลง ก็จะมีการพูดถึงเรื่องของสินสอดและของหมั้นว่าจะมีอะไรบ้าง ค่าสินสอดเป็นจำนวนเท่าไร เมื่อตกลงกันเป็นที่เรียบร้อย ทางฝ่ายชายก็จะไปดูฤกษ์ยามสำหรับวันหมั้นและวันแต่งงาน
2. การหาฤกษ์งามยามดี หลังจากผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายได้มีการพูดคุยกันและสู่ขอกันเรียบร้อยแล้ว หน้าที่ต่อไปของทางฝ่ายเจ้าสาวก็คือการหาฤกษ์งามยามดี ซึ่งการจะดูฤกษ์แต่งงานนั้นจะต้องเตรียม ชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิด และเวลาเกิดของคู่บ่าวสาวที่ถูกต้องไปให้ผู้ที่จะหาฤกษ์ให้
ซึ่งการจัดงานแต่งงานของคนไทยมักจะนิยมแต่งงานในเดือนคู่ เพราะถือคำว่าคู่ยกเว้นเดือน 8 ซึ่งเป็นช่วงเข้าพรรษา โบราณว่าไม่ควรแต่ง ให้เลื่อนไปแต่งเดือน 9 เพราะจะได้ ก้าวหน้า วันที่เป็นสิริมงคลนั้นก็คือวันศุกร์ เพราะมีคำออกเสียงกับคำว่า “สุข” เชื่อว่าจะพบกับความสุข และยังมีวันจันทร์กับวันอาทิตย์ ส่วนวันที่เหลือไม่นิยมแต่ง แต่สำหรับคู่แต่งงานคู่ไหนที่ไม่อยากรอฤกษ์แต่งงาน ก็อาจจะถือเอาฤกษ์วันสะดวกวันใดก็ได้
3. พิมพ์การ์ดแจก หลังจากที่ได้ฤกษ์งามยามดีแล้ว คู่บ่าวสาวก็จะนำฤกษ์ที่ได้ไปพิมพ์การ์ดใช้แจกแขกผู้ใหญ่ และเพื่อนฝูง ซึ่งในการ์ดแต่งงานจะระบุ วันเดือนปี เวลาสถานที่ และมีชื่อเจ้าบ่าว เจ้าสาว ซึ่งนิยมพิมพ์ชื่อ เจ้าสาวขึ้นก่อน เพื่อเป็นการให้เกียรติฝ่ายหญิง
4. เลือกชุดเจ้าบ่าวเจ้าสาว หลังจากนี้ว่าที่เจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะต้องเตรียมหาชุดแต่งงาน เพื่อที่จะใช้สวมใส่ในงานพิธี
โดยชุดแต่งงานที่ใช้ในพิธีแต่งงานส่วนใหญ่จะแยกเป็น 2 ประเภท คือชุดที่ร่วมพิธีกรรม
ในช่วงเช้า สำหรับร่วมงานเช้า ทำบุญตักบาตร พิธีรับไหว้ ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบตามยุคสมัย แต่ยังคงความเป็นไทยได้อย่างน่าชื่นชม ที่เรียกโดยรวมว่า “ชุดไทยพระราชนิยม” หรือ “ชุดไทยประยุกต์” ส่วนอีกประเภทเรียกว่า ชุดราตรี เพราะใช้ร่วมในพิธีเลี้ยงแขกในภาคกลางคืน ซึ่งเป็นพิธีการร่วมสมัยได้รับอิทธิพลมาจากฝั่งตะวันตก ชุดแต่งงานประเภทนี้จึงมีสีขาว และฟูฟ่องงามสง่าเป็นพิเศษดุจดังเจ้าหญิงในเทพนิยาย ส่วนเจ้าบ่าวจะเป็นชุดสูทหรือทักซิโด้
นอกจากชุดแต่งงานยังมีสิ่งของมงคลอื่นๆ ที่จะใช้ในพิธีแต่งงานอีก เช่น ฟักแฝง ก้อนเส้า และตุ๊กตาแมว ซึ่งคนโบราณถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเคล็ดในการครองเรือนของคู่บ่าวสาว รวมถึงการที่จะต้องซื้อเครื่องนอนใหม่ยกชุดด้วย เนื่องจากเป็นความเชื่อตั้งแต่โบราณว่า การจะออกเรือน ค่าวสาวจะต้องสร้างของใหม่ ที่ยังไม่ถูกใช้ หรือยังไม่มีใครนอน
5. อาหารมงคล หลังจากที่เตรียมการทุกอย่างเรียบร้อยจนมาถึงก่อนวันแต่งงาน ตามประเพณีไทยดั้งเดิมหรือยังสามารถพบเห็นได้ตามต่างจังหวัด ที่บ้านเจ้าสาวบรรยากาศจะเริ่มความคึกคัก เพราะเริ่มมีการจัดเตรียมสถานที่สำหรับกางเต็นท์ ตั้งโต๊ะ-เก้าอี้ สำหรับเลี้ยงอาหารแขก รวมถึงในวันนี้ยังเริ่มมีแขกแขกบางส่วนและญาติพี่น้องมาช่วยงาน จัดเตรียมอาหารต่างๆ ที่จะใช้ต้อนรับแขกในวันพรุ่งนี้ ซึ่งอาหารจะถูกทำขึ้นแล้วแต่ทางเจ้าภาพจะจัด แต่ที่นิยมคืออาหารจะถูกจัดไว้เป็น 5 อย่าง, 7 อย่าง, 8 อย่าง, 9 อย่าง หรือ 10 อย่างก็ได้ แต่ห้ามลงด้วย เลข 6 เพราะถือว่าเป็นเลขไม่ดี จะลุ่มๆ ดอนๆ
นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่องอาหารที่จะนำมาเลี้ยงแขกนั้น แต่ละท้องถิ่นก็จะมีความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป อาหารที่จะนำมาให้นั้นต้องมีชื่อและรูปลักษณ์ภายนอกที่แสดงถึงความเป็นมงคลในชีวิตด้วย เช่น
- ขนมจีนน้ำยา เชื่อว่า จะครองรักกันยาวนานเหมือนเส้นขนมจีน
- ห่อหมก คู่บ่าวสาว จะได้ เออ ออ ห่อหมก กันไปทุกเรื่อง จะได้ไม่ต้องมีเรื่องขัดข้องหมองใจกันนั้นเอง ค่ะ
- ลาบหรือลาบหมู เพราะหมายถึง หมายถึง ลาภยศ ทำอะไรจะได้มีแต่ความเจริญรุ่งเรือง
- ขนมจีบ ให้คู่แต่งงานรักกันหวานชื่นเหมือนตอนจีบกันใหม่ๆ
เครดิตรูปภาพจาก ร้านรับจัดพานขันหมากครบชุด
6. การเตรียมขบวนขันหมาก ใช่ว่าที่บ้านเจ้าสาวจะมีความคึกคักฝ่ายเดียวเท่านั้น วันเดียวกันที่บ้านเจ้าบ่าวก็กำลังเตรียมข้าวของสำหรับแต่งขบวนขันหมากอยู่เช่นกัน ซึ่งข้าวของที่ถูกเลือกมาอยู่ในขบวนขันหมากก็มีหลายอย่าง ค่ะ มีขนมเปี๊ยะ มีของหวาน เป็นของมงคล มีฝอยทอง ทองหยอด ทองหยิบ ขนมชั้น ซึ่งล้วนแล้วแต่มีชื่อเป็นมงคลทั้งสิ้น
ส่วนที่ได้ชื่อว่า ขันหมาก บางตำราได้กล่าวไว้ว่า เกิดจากคนไทยสมัยก่อนเป็นชนชาติที่นิยมกินหมาก ขันหมากจึงเป็นการนำหมากมาใส่ไว้ในขัน และเมื่อมีแขกไปใครมาที่บ้านก็จะนำหมากพลู มาต้อนรับ เพื่อแสดงถึงน้ำใจไมตรีที่มีต่อกัน ซึ่งขันหมากที่ใช้ในงานมงคล นั้นจะมี 2 ประเภท คือ
- ขันหมากเอก ประกอบไปด้วย ใบรัก ใบเงิน ใบทอง ใบนาถ ใบขนุน อาหารตามความเชื่อ และหมากพลู พร้อมกับตกแต่งอย่างสวยงามค่ะ
- ขันหมากโท ประกอบไปด้วย ของหวาน ผลไม้ และของคาว รวมถึงต้นอ้อยและกล้วย
7. การกั่นประตูเงิน ประตูทอง เมื่อขบวนขันหมากเดินทางมาถึงบ้านเจ้าสาวก็ยังไม่สามารถเข้าไปในบ้านได้ เพราะตอนนี้มีสร้อยทองมากั้นเอาไว้ ซึ่งเปรียบเหมือน ประตูเงิน ประตูทอง ซึ่งถือเป็นการละเล่นอย่างหนึ่งในประเพณีแต่งงาน เป็นการต้อนรับของฝ่ายเจ้าบ่าวเพื่อให้เกิดความสนุกสนานและคุ้นเคยทั้งสองฝ่ายซึ่งจะมีทั้งหมด 3 ประตู
1. ประตูชัยหรือประตูนาค
2. ประตูเงิน
3. ประตูทอง
เครดิตรูปภาพจาก Noppadol Photographer
ซึ่งกว่าจะผ่านแต่ละด่านมาได้ เถ้าแก่ก็จะต้องซองเงินที่เตรียมไว้เงินค่าเปิดประตูจนกว่า เจ้าบ่าวจะได้พบหน้าเจ้าสาวแต่ระหว่างที่ขบวนขันหมากเข้ามาสู่บ้าน เจ้าสาวก็ไม่สามารถออกมาได้ เนื่องจากเป็นความเชื่อที่สืบทอดต่อกันมาว่าเจ้าสาวจะต้องนั่งรอเจ้าบ่าวอยู่ในห้อง เหมือนกับผู้หญิงเราต้องรักนวลสงวนตัว เขามาหาเราก็จริงแต่ต้องใช้เขาเข้ามาถึงบ้านก่อน แล้วถึงจะออกไปหาเขาไม่ใช่ออกไปต้อนรับ
เมื่อเข้าบ้านได้แล้วเจ้าบ่าวจะมารอที่หน้าห้องเจ้าสาว เมื่อทั้งคู่ได้พบหน้ากันเจ้าบ่าวจะพาเจ้าสาวไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อบอกกล่าวเจ้าที่และบรรพบุรุษให้รับทราบว่า ต่อจากนี้จะมีสมาชิกใหม่ในบ้านเพิ่มมาอีก 1 คน และเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่คนทั้งคู่
8. พิธีเปิดเครื่องสินสอด หลังจากไหว้บรรพบุรุษแล้วตอนนี้ทั้งคู่ก็เข้าสู่พิธีสำคัญของงานแต่งงาน นั้นก็คือพิธีเปิดเครื่องสินสอด โดยญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะมีการเอาข้าวเปลือก ข้าวตอก งาดำ ให้ญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายโรยบนสินสอด เพื่อให้มีความเจริญเติบโต งอกงามอย่างข้าวเปลือกและงา จากนั้นญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายของฝ่ายหญิงหอบสินสอดและทำท่าทางเหมือนแบกของนักมากแล้วนำเก็บ
ความสำคัญของสินสอด คือ ถ้าหากเป็นลูกผู้ชายเค้าจะทดแทนบุญคุณพ่อแม่ด้วยการบวชเรียน แต่ถ้าเป็นลูกสาวจะทดแทนบุญคุณพ่อแม่ด้วยการออกเรือนเพราะค่าสินสอดจะเป็นค่าทดแทนน้ำนม
ตามความเชื่อนั้นที่มาของคำว่าสินสอด สิน หมายถึง สินทรัพย์ ดังนั้นสินสอดจึงเป็น ทรัพย์สินเงินทองหรือสิ่งของอะไรก็ได้ที่มีค่า ที่ฝ่ายชายมอบให้พ่อแม่ของฝ่ายหญิงซึ่งทดแทนค่าน้ำนมที่ได้เลี้ยงดูฝ่ายหญิงมา ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ทั้งเงิน ทอง เครื่องเพชร หรือแม้กระทั่งโฉนดที่ดิน ซึ่งสินสอดนี้มักนิยมเรียกให้สมฐานะของฝ่ายหญิงค่ะ
เครดิตรูปภาพจาก Mutae Studio
9. พิธีรับไหว้ หลังเสร็จพิธีขันหมากและคู่บ่าวสาวแลกแหวนกันแล้ว ก็ถึงเวลาของพิธีรับไหว้ ซึ่งพิธีนี้ญาติของทั้งสองฝ่ายจะนำเงินขวัญถุงมามอบให้กับคู่บ่าวสาว แล้วคู่บ่าวสาวจะมีของรับไหว้ใส่พานตอบแทนกลับไป เพื่อแสดงความขอบคุณที่มาร่วมเป็นสักขีพยานในงานแต่งงานและพิธีนี้ยังเป็นเสมือนว่าคู่บ่าวสาวนั้นได้แนะนำญาติผู้ใหญ่ให้รู้จักกัน
10. พิธีของพระสงฆ์ เมื่อพิธีรับไหว้เสร็จสิ้นแล้วก็จะเข้าสู่พิธีของพระสงฆ์ เพื่อเสริมสร้างสิริมงคลให้กับคนทั้งคู่ โดยบ่าวสาวก็จะถือโอกาสนี้ทำบุญตักบาตรโดยใช้ทัพพีเดียวกันซึ่งบ่งบอกถึงคำพูดที่ว่า “ทำบุญร่วมชาติ ตักบาตรร่วมขัน” เผื่อชาติหนึ่ง ชาติใดจะได้กลับมาเป็นเนื้อคู่กันอีกครั้ง
11. พิธีหลั่งน้ำสังข์ หลังจากนี้ ก็จะเข้าสู่พิธีหลั่งน้ำสังข์ให้กับคู่บ่าวสาว
การหลั่งน้ำสังข์ เราต้องใช้สังข์หลั่ง จะใช้ขันไม่ได้ เหตุผลที่นำหอยสังข์มาใช้ในพิธี เพราะได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์ที่เชื่อว่าเป็นหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพระนารายณ์ เพราะไม่ว่าจะทำการใดในงานมงคล เราก็มักจะเห็นหอยสังข์เข้ามามีบทบาทเสมอ เช่น นำมาเป่าให้เกิดเสียง เพื่อบอกกล่าวแก่เทพยดา หรือใช้เพื่อหลั่งน้ำพระพุทธมนต์แก่คู่บ่าวสาว เพื่อเป็นการอวยพรให้คนทั้งคู่ ส่วนการเจิมหน้าผากและสวมมงคลแฝดก็เพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลและหล่อหลอมคนทั้งคู่ให้เป็นหนึ่งเดียว
12. พิธีส่งตัว หลังจากเสร็จพิธีหลั่งน้ำสังข์แล้ว จะต้องมีการส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าหอเสียก่อน เพื่อให้ทั้งคู่ได้อยู่ร่วมกัน แล้วผู้ที่มาส่งตัวจะได้เห็นว่า ทั้งคู่ได้เปรียบเหมือนเป็นคนๆ เดียวกันแล้ว และจะต้องอยู่ด้วยกันตลอดไป จึงจะถือว่าเป็นการเสร็จสิ้นพิธีทั้งหมด แต่ก่อนที่จะทำการส่งตัวเข้าห้องหอ ญาติผู้ใหญ่จะต้องมาทำพิธีปูที่นอนให้คู่บ่าวสาวเสียก่อน
พิธีปูที่นอนนั้นมีความเชื่อสืบทอดต่อกันมาว่า จะต้องให้ญาติผู้ใหญ่ที่แต่งงานและอยู่กิน กันมานาน ไม่หย่าร้าง มาทำการปูที่นอนและจัดที่นอนให้ เมื่อปูที่นอนเสร็จ บางความเชื่อก็บอกว่าจะต้องนำเงินไปซุกซ่อนไว้ใต้หมอนและนอนกอดกัน พูดแต่สิ่งที่เป็นมงคล ถือเป็นการอวยพรให้แก่คู่บ่าวสาว
หลังจากนั้นจะเข้าสู่พิธีส่งตัว คู่บ่าวสาวก็ต้องขึ้นนอนบนเตียงพูดแต่เรื่องดีๆ เมื่อตื่นขึ้นมา ก็จะพบกับเงินที่ผู้ใหญ่ซุกซ่อนเอาไว้ ทั้งสองก็จะช่วยกันเก็บและฝ่ายชายก็จะเป็นคนมอบเงินให้แก่ฝ่ายหญิง เพื่อให้เป็นผู้เก็บเงินและดูแลค่าใช้จ่ายในบ้านเรือน
หลังจากเสร็จพิธีส่งตัวเข้าหอแล้ว ถือว่าเป็นคู่บ่าวสาวที่สมบูรณ์แล้ว ลูกสาวจะพ้นจากอ้อม อกของพ่อแม่ เปลี่ยนไปให้สามีเป็นผู้ดูแลคุ้มครองต่อไป
วันแต่งงานซึ่งถือว่าเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีแบบไทยๆ ที่สะท้อนวัฒนธรรมและความเชื่อของคนในท้องถิ่นได้อย่างชัดเจน และเต็มไปด้วยความรู้ต่างๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ในประเพณีนั้น ก็เต็มไปด้วยความรู้ที่คนโบราณได้ซุกซ่อนไว้อย่างแยบยลทีเดียว แต่ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ นั้น ก็เป็นเพียงกุศโลบายหนึ่งเท่านั้น ที่ทำให้คนคู่หนึ่งนั้น มีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน อย่างยั่งยืนและยาวนาน แต่ทั้งนี้คนคู่หนึ่งจะอยู่ร่วมกันได้ก็คงต้องอาศัยความเข้าใจที่คนสองคนจะร่วมกันใช้ชีวิตไปในวันข้างหน้า ความซื่อสัตย์และการให้อภัยต่อกัน เป็นสิ่งที่จะกำหนดชะตาชีวิตคู่