คราวนี้คนแก่ขอมานำเสนอเรื่องราวของหอยกับ "ปกรณัม" กันบ้าง หลายคนอาจจะงง กับคำว่า ปกรณ์ หรือ ปกรณัม คืออะไร ปกรณ์ คือ เรื่องเล่ากล่าวขานกันต่อๆ มา ถ้าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเทพเจ้า ก็เรียกว่า เทวปกรณัมขอรับ คนแก่ใคร่ขอนำเสนอเรื่องราวของหอยกับปกรณัม สักเล็กน้อยตามความรู้อันน้อยนิดที่คนแก่มี มาให้ท่านๆ ได้สดับรับชมกันขอรับ
เริ่มจาก หอยสังข์อินเดีย (Indian Chank : Turbinella pyrum)
สังข์เป็นหอยอีกชนิดหนึ่งที่มีความเกี่ยวพันกับขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ ที่เป็นมงคลของไทย ที่เห็นบ่อยๆ ได้แก่ การรดน้ำสังข์ในงาน แต่งงาน หรือในงานพระราชพิธีต่างๆ ที่มีการอัญเชิญพระสังข์ พระมหาสังข์องค์ต่างๆ เข้าประกอบพิธี เช่นพิธีโสกัณฑ์ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก หรือแม้กระทั่งที่ผ่านมาในงานพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของในหลวงเรา ก็คงจะได้เห็นภาพที่พระราชครูวามเทพมุนี ถวายน้ำพระมหาสังข์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย หรือแม้ในพงศาวดารหลายเรื่อง ก็มีการกล่าวถึงหอยสังข์ เช่น การใช้เปลือกหอยสังข์มาทำเป็นผังเมืองสำหรับสร้างเมืองหริภุญไชย หรือที่กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ในตอนสร้างกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 1893 พระเจ้าอู่ทอง (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1) ทรงเห็นว่าทำเลบริเวณหนองโสนอยู่ในชัยภูมิที่เหมาะสม มีคูคลองล้อมรอบ จึงมีรับสั่งให้ชีพ่อพราหมณ์ตั้งพิธีกลบบาตสุมเพลิง จากนั้นจึงให้พนักงานขุดดินโดยรอบเพื่อเตรียมสร้างพระราชวัง และได้พบสังข์ทักษิณาวรรตสีขาวบริสุทธิ์ใต้ต้นหมันหนึ่งขอน อ้อ ลืมบอกไปขอรับ คำลักษณะนามที่ใช้เรียก “สังข์” นั้น เขาเรียกกันเป็น “ขอน” เดี๋ยวจะเข้าใจว่าเป็นขอนของต้นหมันไป ทรงถือเป็นศุภนิมิตร ทรงโปรดให้ปราสาทขึ้นเพื่อประดิษฐานสังข์ทักษิณาวรรตขอนดังกล่าว ในปัจจุบันจังหวัดพระนครศรีอยุธยายังคงรูปสังข์ทักษิณาวรรตประดิษฐานอยู่ในพานทองใต้ต้นหมันเป็นตราประจำจังหวัด นอกจากนี้ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็ปรากฏว่ามีแขกคนหนึ่งชื่อนักกุดาสระวะสี ได้นำมหาสังข์ทักษิณาวรรตมาถวายเป็นคนแรก จึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งให้เป็นขุนนางมียศเป็นหลวงสนิทภูบาล
เรื่องราวที่เล่าขานมานี้ล้วน แต่แสดงให้เห็นว่าสังข์มีความเกี่ยวพันกับคนไทยมานานแล้ว หลายคนอาจจะสงสัยว่า นั้น เรื่องนี้มีที่มาขอรับ เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า เมื่อครั้งพระอิศวรสร้างเขาพระสุเมรุแล้ว พระองค์ก็มีประกาศิตให้พระพรหมธาดาขึ้นไปอยู่ในพรหมโลก ให้เป็นใหญ่กว่าพรหมทั้งหลาย ในครั้งนั้นบรรดาพรหมที่มีจิตใจริษยาต่างก็ไม่พอใจ ก็เลยจุติลงมาเป็นสังข์อสูรอยู่ใต้เขาพระสุเมรุ ครั้งนั้นพระพรหมธาดาได้นำเอาคัมภีร์มาถวายพระอิศวร เมื่อมาถึงที่อยู่ของสังข์อสูรก็เกิดอาการร้อนรุ่มอยากสรงน้ำ จึงได้วางคัมภีร์ไว้ริมฝั่งแล้วเสด็จลงน้ำ ฝ่ายสังข์อสูรเมื่อเห็นเช่นนั้นจึงได้ให้ผีเสื้อน้ำไปลักเอาคัมภีร์นั้นมา แล้วก็กลืนเข้าไว้ในท้องทั้งหมด ฝ่ายองค์พรหมเมื่อขึ้นมาจากน้ำไม่เห็นคัมภีร์ จึงรีบไปเข้าเฝ้าพระอิศวรทูลเรื่องที่เกิดขึ้นให้ทรงทราบ เมื่อพระศิวะเจ้าเข้าฌานก็ทราบถึงสาเหตุ จึงได้เชิญพระนารายณ์มา และให้เป็นธุระในการนำเอาพระคัมภีร์กลับมา พระนารายณ์จึงได้แปลงกายเป็นปลากรายทอง นามว่า มัจฉาวตาร ไล่ล่าสังหารผีเสื้อน้ำ และเข้าโรมรันกับสังข์อสูรเป็นสามารถ ในที่สุดก็เอาชนะสังข์อสูรได้ แล้วสำแดงองค์คืนร่างเป็นพระสี่กร ยื่นพระหัตถ์เข้าไปในปากสังข์อสูร เพื่อหยิบเอาพระคัมภีร์ บางตำนานก็ว่า ทรงแหวกปากของสังข์อสูรออก ทำให้หอยสังข์ในปัจจุบันมีรอยนิ้วของพระนารายณ์ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ ดังนั้น ถ้าผู้ใดจะทำการมงคลพิธีในภายภาคหน้าก็จงเอาสังข์เข้าอยู่ในพิธีนั้น ผู้ใดรดน้ำในอุทรสังข์ก็ให้เป็นมงคล กันอุบาทว์เสนียดจัญไร หรือเป่าก็ให้เป็นมงคลไปจนสุดเสียงสังข์ ครั้นสาปแล้วพระนารายณ์ก็นำคัมภีร์ไปถวายพระอิศวร และเสด็จกลับเกษียรสมุทร ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พราหมณ์จึงถือว่าหอยสังข์ที่ปากมีริ้ว 2-4 ริ้ว อันเกิดจากนิ้วพระหัตถ์ของพระสี่กรปรากฏอยู่นั้นเป็นสังข์สำคัญ
อีกตำนานหนึ่ง ซึ่ง มีที่มาจากทางคชศาสตร์ โดยเกี่ยวพันกับเทพเจ้าแห่งช้างที่สำคัญสององค์ คือ สำหรับพระพิฆเนศนั้น เชื่อว่าหลายท่านคงรู้จักดี แล้วขออนุญาตไม่เล่าในที่นี้ขอรับ ถ้าอยากทราบประวัติของท่าน สามารถหาอ่านได้ในหนังสือ ได้ขอรับ แต่เทพอีกองค์คือ พระโกญจนาเนศวร นั้นมีพระนามปรากฏอยู่เฉพาะในตำราคชลักษณ์ ตามตำนานกล่าวว่า ในไตรดายุค พระนารายณ์ทรงกระทำเทวฤทธิ์ให้เกิดดอกบัวผุดขึ้นจากอุทร ดอกบัวดอกนั้นมีแปดกลีบ มีเกสร 172 เกสร แล้วนำไปถวายพระอิศวร ซึ่ง องค์เทวะเจ้าได้แบ่งเกสรดอกบัวออกเป็นสี่ส่วน หนึ่งส่วนเป็นขององค์ศิวะเจ้าเอง หนึ่งส่วนขององค์พรหมา ส่วนหนึ่งเป็นของพระวิษณุ และส่วนที่สี่ให้แก่พระอัคนี เพื่อให้เทวะ แต่ลงองค์ทรงบันดาลให้เกิดช้างสี่ตระกูล คือ อิศวรพงศ์, พรหมพงศ์, วิษณุพงศ์ และอัคนิพงศ์ แล้วจึงสร้างพระเวทสี่ประการ ไว้ให้สำหรับชนทั้งหลายจะได้ปราบช้างทั้งสี่ตระกูลในโลก พระผู้ทรงจันทเศขร ทรงประสาทพรให้พระเพลิงกระทำเทวฤทธิ์ให้บังเกิดเปลวเพลิงออกจากช่องพระกรรณทั้งสอง และท่ามกลางเปลวเพลิงทางด้านขวา บังเกิดเป็นเทวกุมารองค์หนึ่ง มีพระพักตร์เป็นช้าง พระกรขวาทรงตรีศูล พระกรซ้ายทรงดอกบัว มีอุรเคนทร์ (พญานาค) เป็นสังวาล นั่งชาณุมณฑล อยู่เบื้องขวาพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม ทรงพระนามว่า “ศิวบุตรพิฆเนศวร” ส่วนเบื้องซ้ายบังเกิดเป็นเทวกุมาร มีพระพักตร์เป็นช้างสามเศียร มีหกพระกร ทรงพระนาม “โกญจนาเนศวร” ทรงบันดาลให้เกิดเป็นช้างเอราวัณ ช้างเผือกผู้มี 33 เศียร อีกพระกรหนึ่ง บังเกิดช้างคิรีเมขละไตรดายุค ช้างเผือกผู้สามเศียร ช้างทั้งสองถือเป็น “เทพยานฤทธิ์” ซึ่ง พระเป็นเจ้าทั้งสามประสาทพรไว้ให้เป็นเทพพาหนะขององค์อมรินทร์ พระกรอีกสองกรของพระโกญจนาเนศวร เกิดเป็นช้างเผือกซึ่งจะได้อุบัติในโลก สำหรับเป็นพาหนะของกษัตริย์อันมีอภินิหารอีกข้างละสามตระกูล คือ ช้างเผือกเอก โท ตรี และพระกรเบื้องขวาเป็นพลาย อีกสองพระกรบังเกิดเป็น “สังข์ทักษิณาวรรต” เบื้องขวา “สังข์อุตราวัฏ” เบื้องซ้าย ยืนอยู่เหนือกระพองศรีษะช้างเจ็ดเศียร บรรดาหมอช้างทั้งหลายจึงไหว้บูชา พระศิวบุตรพิฆเนศวร และพระโกญจนาเนศวร ด้วยเหตุนี้พระศิวบุตรทั้งสองก็ประจำอยู่ในโลกจนสิ้นภัทรกัปหนึ่ง ช้างเผือกทั้งสามตระกูล และสังข์สองตระกูล จึงเป็นของมงคล เพราะเกิดจากกลางฝ่ามือของพระโกญจนาเนศวรศิวบุตรนั่นเอง ความเชื่อดังกล่าวทำให้การขึ้นระวางสมโภชช้างสำคัญในทุกรัชกาล จะทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์ทักขิณาวัฏเหนือศีรษะช้างสำคัญ อันเป็นพิธีใหญ่ และสำคัญมาก เทียบเท่าพระเจ้าลูกยาเธอชั้นเจ้าฟ้าเชียวนะขอรับ
ภาพที่แสดงเป็นภาพพระโกญจนาเนศวรขอรับ
หลายคนอาจจะสงสัย พระสังข์ทักษิณาวรรต หรือ ถ้าแปลเป็นภาษาง่ายๆ จะแปลว่าหอยเวียนขวา ส่วนพระสังข์อุตราวัฏ หรือหอยเวียนซ้ายนั้น จะดูอย่างไร ว่าสังข์ขอนไหนที่เป็นเวียนขวา หรือว่าเวียนซ้าย ก่อนอื่นเราคงต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนนะขอรับ ว่าการดูว่าเปลือกหอยเปลือกไหน เวียนขวาหรือว่าเวียนซ้ายนั้น มีการมองอยู่สองแบบ แบบหนึ่งเป็นไปตามหลักการทางด้านสังขวิทยา ส่วนอีกแบบเป็นไปตามคติของพราหมณ
เราลองมาเปรียบเทียบทั้งสองแบบดูนะขอรับ เอาแบบทางด้านสังขวิทยาก่อนแล้วกันนะขอรับ ถ้าตอนนี้ใครมีเปลือกหอยทะเลในมือ (ขอเป็นหอยฝาเดียวนะขอรับ หอยสองฝาเดี๋ยวไว้มีเวลากระผมค่อยบอกว่าดูยังไงเป็นฝาซ้ายหรือว่าฝาขวา) ทีนี้ลองยกเปลือกหอยขึ้นมาดูนะขอรับ ให้เอาด้านที่เป็นปลายแหลมชี้ขึ้นข้างบน แล้วหันเอาด้านที่เป็นปากเปิด (aperture) หันเข้าหาตัว ถูกต้องแล้วขอรับ ทีนี้ให้สังเกตด้านปากเปิด ถ้าปากเปิดอยู่ด้านขวามือเรา แสดงว่าเป็นหอยเวียนขวา (right-hand coiling : Dextral) แต่ ถ้าปากเปิดอยู่ด้านซ้ายก็เป็นหอยเวียนซ้าย (left-hand coiling : Sinistral) ขอรับ ซึ่ง เอาล่ะขอรับทีนี้เรามาลองดูการขดวนของหอยแบบทางคติพราหมณ์บ้างขอรับ ในทางพราหมณ์นั้น เขาไม่ได้มองการขดวนเหมือนทางวิชาการ แต่ดูจากเวลาใช้สังข์รดน้ำ ลองนึกภาพตอนที่เรารดน้ำสังข์ในงานแต่งงานสิขอรับ เราทำอย่างไร เราจะหันเอาด้านปลายแหลมเข้าหาตัว แล้วก็เอาด้านที่เป็นช่องที่ใส่น้ำออกจากตัวใช้ไหมขอรับ ในกรณีนี้ ถ้าปากเปิด หรือช่องที่ใช้รดน้ำนั่นแหละขอรับ อยู่ทางด้านซ้ายมือเรา ก็จะเรียกว่า หอยเวียนซ้าย หรือสังข์อุตราวัฏ แต่ ถ้าปากเปิดอยู่ทางด้านซ้ายมือ ก็จะเป็นหอยเวียนขวา หรือสังข์ทักขิณาวรรต ทีนี้เอาใหม่นะขอรับ เราลองเอาสังข์อุตราวัฏ มาดูการขดวนแบบทางวิชาการดู สังเกตเห็นอะไรไหมขอรับ ใช่แล้วขอรับ สังข์อุตราวัฏก็จะกลายเป็นหอยเวียนขวาในทางวิชาการ และในทำนองเดียวกัน สังข์ทักขิณาวรรต ก็จะกลายเป็นหอยเวียนซ้าย เพราะฉะนั้นอย่าได้สับสนนะขอรับ ให้เข้าใจว่า ถ้าพูดถึงสังข์ หรือพระมหาสังข์ทักษิณาวรรตแล้วล่ะก็จะหมายถึงหอยที่มีการขดวนของเปลือกเป็นแบบเวียนซ้าย ส่วนสังข์หรือพระสังข์อุตราวัฏจะหมายถึงหอยที่มีการขดวนของเปลือกเป็นแบบเวียนขวาขอรับ ขออนุญาตนอกเรื่องสักนิดขอรับ ในประเทศอินเดีย เราคงทราบดีอยู่แล้วว่ามีการปกครองแบบแบ่งวรรณะ (varna) ต่างๆ สี่วรรณะ เชื่อหรือไม่ขอรับว่า แม้แต่สังข์เองก็ยังแบ่งออกเป็นสีในการใช้ตามวรรณะด้วยเช่นกัน โดย
-
วรรณะพราหมณ์ ใช้สังข์สีขาว
-
วรรณะกษัตริย์ ใช้สังข์สีแดงหรือสีน้ำตาลหรือชมพู
-
วรรณไวศยะ ซึ่ง ได้แก่ คหบดี หรือพ่อค้า ใช้สังข์สีเหลือง และ
-
วรรณะสุดท้ายคือ ศูทร ได้แก่ ชาวไร่ ชาวนา ผู้ใช้แรงงาน ใช้สังข์สีเทา หรือสีดำ ขอรับ
เพื่อความเข้าใจง่ายๆ เลยเอารูปมาลงให้ดูอีกทีขอรับ
เรื่องของสังข์นี่ ถ้าจะให้เล่ากันล่ะก็คงเล่าได้ไม่รู้จบ เอาเป็นว่าเราพอจะสรุปได้ว่า ที่กล่าวถึงในตอนต้น และสำหรับเราเหล่าสามัญชนแล้วล่ะก็ที่ยังเห็นได้บ่อยๆ คือการรดน้ำสังข์ในงาน แต่งงานนั่นเอง ทั้งนี้ทั้งนั้นล้วน แต่มาจากคติความเชื่อที่ว่าสังข์เป็นของมงคล และน้ำที่หลั่งจากสังข์ช่วยปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีออกไปได้ พอพูดถึงเรื่องนี้คนแก่เองก็อยากทราบเหมือนกันว่า คนกรุงเทพฯ เรานี่จะมีสักกี่คนที่ทราบว่า หอยสังข์อุตราวัฏสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ ใน “สวนรมณีนาถ” ซึ่ง สร้างในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษานั้น ภายในสังข์นั้นบรรจุแผ่นยันต์มหาโสฬสมงคล และองค์สังข์จริง ซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานไว้ในสังข์สำริด ทำให้น้ำพุที่ไหลผ่านกลายเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย ถ้าจะให้เล่าเรื่องสังข์แล้วล่ะก็มีเรื่องราวให้กล่าวขานกันอีกมากมาย แต่เอาไว้แค่นี้ก่อนแล้วกัน ไว้มีเวลาค่อยมาว่ากันใหม่ขอรับ
|