เจาะลึกธรรมเนียมการสวมมงกุฎของราชวงศ์อังกฤษ ไม่ใช่เจ้าหญิงทุกองค์จะสวมได้!
ช่วงใกล้งานแต่งของเจ้าชายแฮร์รี่และเมแกน มาร์เคิล นอกจากดราม่าพี่สาวต่างแม่แล้ว ประเด็นการสวมมงกุฏได้หรือไม่ได้จนเกิดเป็นการเปรียบเทียบระหว่างเมแกนและเคต มิดเดิลตันหรือดัชเชสแห่งเคมบริดจ์เป็นอีกหนึ่งข้อถกเถียงที่ได้ข้อสรุปจากกฎเหล็กของราชวงศ์อังกฤษที่มีการเขียนไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร
ทำไมเมแกน มาร์เคิลถึงไม่สามารถสวมมงกุฏหรือรัดเกล้าแบบเจ้าหญิงเคตได้ในตอนนี้? คำตอบที่ไม่น่าแปลกใจคือเธอยังไม่ได้เข้าพิธีเสกสมรสแม้ว่าราชวงศ์จะประกาศการหมั้นหมายระหว่างเธอกับเจ้าชายแฮร์รี่อย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม ในขณะที่ดัชแชสแห่งเคมบริดจ์สวมมงกุฏของเธอไปในงานพิธีสำคัญอยู่บ่อยๆ ซึ่งธรรมเนียมปฏิบัติเรื่องการสวมมงกุฎในราชวงศ์อังกฤษนั้นเป็นที่ยึดถือกันอย่างเคร่งครัดมากว่าร้อยปี
เจ้าชายแฮร์รี่ และเมแกน มาร์เคิล เตรียมเข้าพิธีวิวาห์ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ / ภาพ: GETTY
หลายคนคิดว่า “มงกุฎ” เป็นเพียงเครื่องหมายที่แสดงถึงความเป็นเชื้อพระวงศ์ที่สมาชิกราชวงศ์ฝ่ายหญิงคนใดจะเลือกสวมก็ได้ แต่สำหรับราชวงศ์อังกฤษแล้วไม่ใช่เจ้าหญิงทุกองค์จะสามารถสวมมงกุฎได้ เนื่องจากมีบทบัญญัติไว้ว่า “สมาชิกราชวงศ์หญิงที่แต่งงานแล้วเท่านั้นจึงจะสามารถสวมมงกุฎได้” เหตุเพราะมงกุฎเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกว่าหญิงผู้นั้นมีสามีแล้วและเธอมิได้กำลังมองหาคู่ครอง นอกจากนี้ยังเป็นการส่งสัญญาณให้กับชายคนใดว่าห้ามเข้าหาราชวงศ์ที่สวมมงกุฎเป็นอันขาด
สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวมมงกุฎครั้งแรกในวันแต่งงานกับเจ้าชายฟิลิปเมื่อปี 1947 / ภาพ: Kensington Royal
เจ้าหญิงไดอาน่าสวมมงกุฎครั้งแรกขณะเข้าพิธีแต่งงานกับเจ้าชายชาลส์ในพระราชวังบักกิงแฮมเมื่อปี 1981 พร้อมถ่ายภาพพอร์เทรตทางการของทั้งคู่/ ภาพ: Lichfield
คำถามต่อมาคือแล้วเมื่อไหร่ที่เจ้าหญิงจะสามารถสวมมงกุฎได้เป็นครั้งแรก คำตอบคือในวันแต่งงานของเธอนั่นเอง หากย้อนไปที่พิธีแต่งงานของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เจ้าหญิงไดอาน่า และเจ้าหญิงเคต จะเห็นได้ชัดว่าเจ้าหญิงทุกพระองค์เลือกสวมมงกุฎครั้งแรกในฐานะเครื่องประดับรับกับชุดเจ้าสาวของพวกเธอ จึงคาดการณ์ได้ 90% ว่าเมแกน มาร์เคิลจะสวมมงกุฎในพิธีแต่งงานของเธอกับเจ้าชายแฮร์รี่เช่นเดียวกับสมาชิกราชวงศ์รายอื่น
แคเธอรีน ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ สวมมงกุฎครั้งแรกในงานแต่งงานของเธอกับเจ้าชายวิลเลียมที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์เมื่อปี 2011 / ภาพ: Kensington Royal
(ซ้าย) ไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ (ขวา) แคเธอรีน ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ สวมมงกุฎเดียวกันซึ่งเคตได้รับตกทอดมาจากผู้เป็นมารดาของเจ้าชายวิลเลียม / ภาพ: GETTY
ธรรมเนียมการสวมมงกุฎดังเกล่าถือได้ว่าเป็นข้อปฏิบัติที่สมาชิกราชวงศ์ต้องยึดถืออย่างเคร่งครัดก็จริง แต่เทรนด์แฟชั่นโลกที่แปรเปลี่ยนไปตามกระแสก็ย่อมส่งผลต่อการสวมมงกุฎของเหล่าราชวงศ์เช่นกัน ปัจจุบันเราเห็นเจ้าหญิงเคตสวมมงกุฎในลักษณะค่อนไปด้านหลังในตำแหน่งใกล้กับหลังหู โดยจัดความชันของมงกุฏให้เชิดขึ้นเล็กน้อยราวๆ 45 องศาเมื่อมองจากด้านข้าง แต่หากย้อนไปในยุค ’20 สมัยที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าหญิงมาร์กาเรตยังเป็นสาว พวกเธอสวมมงกุฎลงบนศีรษะในแนวขนานกับพื้นโลกและจัดความชันของมงกุฎอยู่ที่ 90 องศาพอดี ไม่เพียงในราชวงศ์อังกฤษเท่านั้นแต่เทรนด์การสวมมงกุฎของราชวงศ์ทั่วโลกก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลาเช่นกัน
เทรนด์การสวมมงกุฎของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และเจ้าหญิงมาร์กาเรตในช่วงยุค '20
แคเธอรีน, ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์เลือกสวมหมวกไปร่วมงานแต่งงานช่วงกลางวันของน้องสาว พิพพา มิดเดิลตัน และเจมส์ แมทธิว / ภาพ: GETTY
หลังจากแต่งงานแล้วเจ้าหญิงสามารถสวมมงกุฎได้ตลอดโดยเฉพาะในเวลาปฏิบัติภารกิจของราชวงศ์ อันจะเห็นได้จากเจ้าหญิงเคตที่เลือกสวมมงกุฎบ่อยครั้งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไปจนถึงคามิลลา ดัชเชสแห่งคอร์นวอล ที่สวมมงกุฎออกงานเสมอๆ ยกเว้นหากเป็นงานกลางวันเจ้าหญิงจะเลือกสวมหมวกตามมรรยาท แต่หากงานเลี้ยงนั้นเริ่มหรือจัดลากยาวไปเกินกว่า 6 โมงเย็น ตามธรรมเนียมปฏิบัติเหล่าสมาชิกราชวงศ์ฝ่ายหญิงที่สมรสแล้วจะต้องสวมมงกุฎมาร่วมงานเท่านั้น
เรื่อง: ปภัสรา นัฏสถาพร
ข้อมูล: Vogue UK, Honey Nine, BBC, Kensington Royal , Vogue Thailand
|