กว่าจะเดินมาถึงเจ้าบ่าวรูปงามภายใต้ชุดสูท ก็เป็นเวลาเพียงพอที่จะให้เพื่อนสาว (แท้และไม่แท้) โสดน้ำตาไหลอาบแก้ม และฝันอยากมีงานแต่งงานแบบนั้นบ้าง แต่พิธีเก๋ๆ อารมณ์โรแมนติกแบบนี้สงวนไว้ให้กับชาวคริสต์ของแท้เท่านั้น
หัวใจของพิธีแต่งงานในศาสนาคริสต์คือการกล่าวคำมั่นสัญญา ซึ่งหมายถึงการทำพันธสัญญาต่อพระเจ้า ด้วยการกล่าวคำปฏิญาณต่อพระองค์ โดยมีแขกที่มาร่วมในพิธีเป็นพยานโดยมีคำพูดดังนี้ “ขอสัญญากับพระองค์ว่า จะขอรับ (ชื่อเจ้าสาวหรือเจ้าบ่าว)..... เป็นภรรยา (สามี) ของข้าพเจ้า ไม่ว่าจะมั่งมีหรือยากจน สุขหรือทุกข์ เจ็บป่วยหรือสุขสบาย จะขอสัตย์ซื่อต่อเธอผู้เป็นภรรยา (ต่อคุณผู้เป็นสามี) ตลอดไป จนกว่าความตายจะมาแยกเราออกจากกัน”
คำกล่าวที่ชาวคริสต์ปฏิญาณออกไปนั้นเป็นการกล่าวคำสัญญาบุคคล 3 ฝ่ายคือ ตัวเรา อีกฝ่าย (คนที่เราจะแต่งงานด้วย) และพระเจ้า เราจึงต้องตั้งใจและยึดมั่นในคำสัญญา ถึงแม้ว่าคนรุ่นหลังจะเหลวไหลไม่ทำตาม แต่ก็ถือว่าเป็นส่วนน้อย เพราะถ้าชาวคริสต์ที่มีพลังศรัทธา ก็จะยึดถือในคำสัญญานี้อยู่ตลอดเวลา เมื่อสัญญาแล้วก็แลกแหวนกัน ซึ่งเป็นวิธีที่ปฏิบัติตามกันมาไม่ว่ากี่ยุคสมัย ส่วนสิ่งที่แตกต่างอาจเป็นเรื่องของสีสันเช่นการเพิ่มเข้ามาของขบวนเจ้าสาว เด็กโปรยดอกไม้ก่อนเข้าโบสถ์ ผู้จุดเทียน การสวมเวล ซึ่งนั่นเป็นเรื่องของธรรมเนียมของแต่ละประเทศแต่ละท้องถิ่นที่จะเติมสีสันให้กับงานแต่งงาน
ชาวคริสต์เชื่อว่าคนที่เราจะแต่งงานด้วยนั้นเป็นคนที่พระเจ้าเลือกให้ การแต่งงานกับคนต่างศาสนานอกจากจะขัดกับความเชื่อตามพระคัมภีร์แล้ว ยังมีปัญหาเรื่องของความเชื่อ และแนวทางการตัดสินใจที่แตกต่างกัน จะทำให้คู่บ่าว-สาวที่ต่างศาสนากันจะมีการปรับตัวยากกว่า เพราะถ้าเรานับถือพระเจ้าเหมือนกัน เราจะเกรงใจว่าจะไม่ทำอะไรที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อกัน แต่ถ้าอีกฝ่ายไม่มีพระเจ้า เราคงไม่รู้ว่าเขาทำอะไรที่ไม่ซื่อสัตย์หรือเปล่าเพราะเขาไม่ต้องเกรงใจพระเจ้าเหมือนเรา
การแต่งงานในศาสนาคริสต์ มีความหมายถึงการอยู่ร่วมกันไม่ว่าเธอและฉันจะเป็นอย่างไรต่อไปจากนี้ ซึ่งการเดินไปด้วยกันต้องเริ่มจากการคิดเหมือนกัน มีอุดมการณ์ที่เหมือนกัน ทางแก้ไขสำหรับคนศาสนาอื่นที่มาหลงรักชาวคริสต์ ทางออกมีทางเดียวคือต้องสมัครใจเปลี่ยนตัวเองมานับถือศาสนาคริสต์ ต้องศึกษาบทเรียนของชาวคริสต์ซึ่งไม่ว่าจะเป็นคริสเตียนหรือคาทอลิกก็มีข้อกำหนดที่เหมือนกัน แต่นั่นเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ในความเห็นของอาจารย์คิดว่าในระยะยาวก็คงไม่มีอะไรแน่นอน เพราะคนที่เปลี่ยนมานับถือคริสต์ทีหลังนั้นไม่ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้งมาตั้งแต่เด็ก
ส่วนใหญ่ชาวคริสต์จะมีโบสถ์ประจำของตัวเอง ส่วนใหญ่เป็นโบสถ์ที่เข้ามาตั้งแต่สมัยคุณพ่อคุณแม่ เวลาแต่งงานก็ต้องแต่งที่โบสถ์นั้น และถ้าชาวคริสต์รักกันเองแต่อยู่ต่างโบสถ์กัน ก็ต้องเลือกมาสักโบสถ์ ชาวคริสต์ส่วนใหญ่จะผูกพันกับโบสถ์ที่ตัวเองเติบโตขึ้นมา การแต่งต่างโบสถ์ไม่ค่อยเป็นที่นิยม แต่ก็ยืดหยุ่นได้ถ้ามีเหตุผลที่เพียงพอ อย่างเช่นโบสถ์ของตัวเองเล็กเกินไป ไม่สามารถรับรองแขกได้ทั้งหมด แต่ก่อนการแต่งงานอาจารย์ประจำโบสถ์ที่ทำพิธีจะโทรศัพท์มาพูดคุยกับอาจารย์ประจำโบสถ์ของบ่าว-สาวก่อน เพื่อเป็นการให้เกียรติ และเพื่อเช็กว่าบ่าว-สาวได้แจ้งอาจารน์ประจำโบสถ์ไว้อย่างถูกต้องแล้ว
ชาวคริสต์ถือว่าโบสถ์คือความศักดิ์สิทธิ์ และเชื่อว่าพระเจ้าอยู่ที่นี่ จึงรู้สึกดีและรู้สึกถึงความเป็นมงคล แต่มีบางคู่ที่ต้องแต่งงานกันข้างนอกหรือสถานที่อื่น เพราะบาทหลวงหรือศิษยาภิบาลไม่ให้เข้าไปแต่งงานในโบสถ์ อย่างเช่นคู่รักต่างศาสนาที่ยังไม่ได้รับการอบรมการเป็นชาวคริสต์ หรือคู่ที่ท้องก่อนแต่ง อาจารย์บางท่านอาจพิจาณาเหตุและผลที่เหมาะสม และประกอบพิธีให้ แต่ต้องไม่ใช่ในโบสถ์ หรือบางท่านที่อนุรักษ์นิยมมาก ก็จะไม่ประกอบพิธีให้เลย
ก่อนการแต่งงาน ชาวคริสต์ต้องเรียนรู้การใช้ชีวิตคู่ภายใต้ความเชื่อและความศรัทธาแบบเดียวกันจากบาทหลวงหรือศิษยาภิบาลก่อนทุกคน เนื้อหาของบทเรียนเป็นเรื่องของการใช้ชีวิตคู่ร่วมกันตามคำสอนที่บัญญัติไว้ในพระคัมภีร์ เพราะเกี่ยวข้องกับความศรัทธาว่า 2 คนจะดำรงชีวิตในความศรัทธาอย่างไรที่จะส่งต่อไปสู่ลูกในวันข้างหน้าได้อย่างถูกต้อง เวลาในการเรียนจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความเข้าใจของแต่ละคู่ แต่ส่วนใหญ่จะเรียนไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง ครั้งละ 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
ไม่เรียนไม่ได้ เพราะบาทหลวงหรือศิษยาภิบาลก็จะไม่ประกอบพิธีแต่งงานให้ แต่ก็มีบางท่านที่ยอม ซึ่งท่านจะดูตามเหตุผลและความเหมาะสม ได้ทราบหลักใหญ่ๆ ใจความสำคัญของการแต่งงานของศาสนาคริสต์ไปแล้ว มาทราบรายละเอียดของพิธีการกันบ้าง
ไม่แตกต่างกับงานแต่งงานทั่วไปคือ เริ่มจากการสู่ขอ จองสถานที่จัดงานเลี้ยง พิมพ์และส่งการ์ดเชิญ และที่สำคัญคือจองโบสถ์ ซึ่งรวมไปถึงการจองผู้ประกอบพิธีกรรมคือ บาทหลวง (สำหรับคาทอลิก) หรือศิษยาภิบาล ( สำหรับคริสเตียนหรือโปแตสแตน) นอกจากนั้นคู่บ่าว-สาวจะต้องหาเพื่อนเจ้าบ่าวและเพื่อนเจ้าสาวเพื่อช่วยดูแลความเรียบร้อยระหว่างพิธี เจ้าบ่าวจะต้องมีคนรักษาแหวนให้ก่อนพิธีแลกแหวน เจ้าสาวต้องให้เพื่อนผู้หญิงเป็นคนถือช่อดอกไม้เดินนำขบวนเข้าโบสถ์ และต้องมีผู้จุดเทียนซึ่งเป็นหญิงชายอย่างละหนึ่งคน นอกจากนี้ยังต้องหาเด็กเล็กๆ ทั้งชายและหญิงซึ่งจะเป็นลูกของพี่น้องหรือญาติก็ได้ มาช่วยในงานพิธี เด็กชายทำหน้าที่ถือหมอนรองแหวนแต่งงาน เด็กหญิงโปรยดอกไม้นำทางเจ้าสาวเข้าโบสถ์
เริ่มจากผู้จุดเทียนถือเทียนเดินเข้าโบสถ์เพื่อจุดเทียนที่อยู่ตรงกลางด้านหน้าของโบสถ์ จากนั้นนำเทียนที่ถือไปจุดต่อยังเชิงเทียนด้านซ้ายและขวา เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงเดินออก จากนั้นนักดนตรีในโบสถ์จึงเริ่มบรรเลงเพลง ขบวนเจ้าสาวก็จะเคลื่อนเข้าสู่โบสถ์ นำโดยเด็กโปรยดอกไม้ เพื่อนเจ้าสาวที่ถือดอกไม้ เด็กถือแหวน ตามด้วยเจ้าสาวที่เดินคล้องแขนมาพร้อมกับคุณพ่อหรือญาติผู้ใหญ่ซึ่งเป็นผู้ชาย การที่พ่อเป็นผู้พาเจ้าสาว เข้ามาในโบสถ์นั้นมีความหมายว่าเต็มใจที่จะยกลูกสาวให้กับเจ้าบ่าว
จากนั้นบาทหลวงหรือศิษยาภิบาลจะให้ผู้ร่วมพิธีทุกคนยืนขึ้นเพื่อต้อนรับเจ้าสาว แล้วถามว่า “ใครเป็นผู้มอบเจ้าสาว.............ให้กับเจ้าบ่าว.......ในวันนี้” บิดาของเจ้าสาว ซึ่งเป็นผู้มอบก็จะตอบว่า “ข้าพเจ้านาย……..บิดาของนางสาว………เป็นผู้มอบ” แล้วถอยออกมาเพื่อให้เจ้าบ่าวไปยืนคู่กับเจ้าสาวแทน…………………….
หลังจากนี้เจ้าสาวและเจ้าบ่าวจะให้คำสัญญาต่อกันและกันต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้าซึ่งเป็นหัวใจหลักของพิธีแต่งงานแบบชาวคริสต์ แล้วบาทหลวงหรือศิษยาภิบาลจะถามความสมัครใจของคู่บ่าว-สาว เมื่อทั้งคู่ตอบรับแล้ว บาทหลวงหรือศิษยาภิบาลจะให้เจ้าบ่าวสวมแหวนให้เจ้าสาวก่อนแล้วเจ้าสาวจึงจะสวมแหวนให้เจ้าบ่าวได้ แล้วจึงประกาศให้ทั้งคู่เป็นสามีภรรยากันโดยถูกต้อง (ตามหลักศาสนา) แล้วฉากเด็ดที่ทุกคนรอคอย (โดยเฉพาะบ่าว-สาว) ก็มาถึง เมื่อบาทหลวงหรือศิษยาภิบาลอนุญาตให้เจ้าบ่าวจูบเจ้าสาวได้ (ถ้าบ่าว-สาวขี้อาย หอมแก้มแทนก็ได้)
- พิธีการและลำดับขั้นตอนที่กล่าวมาข้างต้นอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเชื่อและความเหมาะสมของศาสนาคริสต์แต่ละนิกาย
- ตามธรรมเนียม แหวนแต่งงานต้องเป็นแหวนเกลี้ยงทำจากทองคำหรือแพลทินัมแบบเกลี้ยง เพราะเป็นสัณลักษณ์แห่งรักนิรันดร์ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนความนิยมไปตามแฟชั่น (และกำลังทรัพย์ในกระเป๋า) บางคนเลือกแหวนทองคำขาวแทนก็ได้
- ควรจองโบสถ์แต่เนิ่นๆ เพราะเรื่องจริงไม่เหมือนกับภาพยนตร์ ที่เจ้าบ่าวนึกอยากแต่งงานก็จูงมือเจ้าสาวเข้าโบสถ์ไปเลย
- คุยกับบาทหลวงหรือศิษยาภิบาลประจำโบสถ์ให้เคลียร์ เพราะแต่ละโบสถ์มีเงื่อนไขที่ไม่เหมือนกัน
- วันก่อนแต่งงานจะมีการซ้อมใหญ่ โดยมีบาทหลวงหรือศิษยาภิบาล บ่าว-สาว และผู้ร่วมพิธี เพื่อซ้อมลำดับพิธีการทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ เมื่อซ้อมเสร็จผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะอาสาเป็นเจ้าภาพเลี้ยงฉลองการซ้อมที่เรียกว่า Rehearsal Dinner
- การสวมเวล เป็นเพียงธรรมเนียมที่นิยมปฏิบัติ แต่ความจริงจะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้ เป็นเรื่องของความสวยงามเท่านั้น
|