5 ขั้นตอนเตรียมงานแต่งงานสำหรับคนมีเวลาน้อย ให้ออกมาเป๊ะปัง
ขั้นตอนเตรียมงานแต่งสำหรับคู่บ่าวสาวที่มีเวลาน้อย เพื่อที่คุณจะได้เนรมิตงานแต่งให้ออกมาดูดี ไว้เก็บไปภาพความทรงจำแสนหวานระหว่างคุณสองคน
เพราะว่าการวางแผนการแต่งงานเป็นเรื่องสำคัญ แต่ถ้าเกิดว่าคู่ของคุณดันมีเวลาเตรียมงานเพียงแค่ 3 เดือนหรือน้อยกว่านั้น จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ ขออย่าเพิ่งสติแตกไปเสียก่อน ตั้งสติให้มั่น เพราะบางคู่ได้ฤกษ์มาแบบปัจจุบันทันด่วน ได้วันปุ๊บ ก็ต้องเร่งจัดพิธีปั๊บ เพราะไม่อย่างนั้นก็ต้องรอไปอีกนาน ว่าที่บ่าวสาวเลยไม่รอช้า สำหรับระยะเวลาที่เร่งด่วนแบบนี้ วันนี้เรามีขั้นตอนการจัดงานแต่งงานมาฝาก เอาไว้ปรับไปใช้กับคู่ของคุณได้อย่างเหมาะสมลงตัว
ขั้นตอนที่ 1 วางทามไลน์ให้ชัดเจนที่สุด
หลังจากที่รู้วันแต่งงานเรียบร่อย ก่อนอื่นคุณจะต้องวางแผนกำหนดงบประมาณในเรื่องต่าง ๆ เช่น สถานที่จัดงาน รูปแบบการจัดงาน และสรุปแขกที่มาร่วมอื่น เป็นต้น เหล่านี้จำเป็นที่ต้องอาศัยการตัดสินใจอย่างทันที และด้วยระยะเวลาเตรียมการไม่มาก บางครั้งคุณอาจจะต้องตัดใจจากภาพวิวาห์ในฝันบางอย่างทิ้ง อย่างการจัดงานที่ทะเลหรือโรงแรมหรู เพราะความต้องการของเราก็ไม่ได้สอดคล้องกับเวลาไปเสียทั้งหมด...ถูกไหมคะ ?
ขั้นตอนที่ 2 ตัดดีเทลที่ไม่จำเป็นออก
เพราะระยะเวลาที่น้อย ทำให้คุณไม่ได้ประโคมค่าใช้จ่ายในการจัดงาน (ซึ่งอาจเป็นผลดีก็ได้นะ) ระยะเวลาที่กระชั้นชิด ทำให้คุณจะต้องตัดค่าใช้จ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่จำเป็นออก แล้วคงเหลือแต่รายจ่ายที่จำเป็น เช่น จัดงานแต่งในร้านอาหารแทนโรงแรมหรู, รบกวนคนกันเอง ทั้งเพื่อน พ่อแม่ พี่น้อง มาช่วย และไม่จำเป็นต้องจ้างวงดรตรีแพง ๆ อาศัยวงกันเอง ใครเล่นอะไรเป็น ก็ชวนกันมา เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 3 การเลือกชุดเจ้าสาว
สมัยนี้ชุดเจ้าสาวหนึ่งชุดใช่ว่าจะถูก ๆ แถมยังต้องสั่งตัดสั่งจองล่วงหน้ากันเป็นปี ๆ เรามีอีกหนึ่งทางเลือกให้กับเจ้าสาวที่มีเวลาน้อย เปลี่ยนเป้าหมายลองมองหาชุดเพื่อนสาวดี ๆ มาใส่แทนดีไหมคะ ชุดเพื่อนเจ้าสาวเดี๋ยวนี้มีแพทเทิร์นที่สวยและทันสมัย แถมบางครั้งยังมีตัวเลือกมากกว่าชุดเจ้าสาวอีกด้วย ที่สำคัญราคาถูกกว่ากันตั้งเยอะ (หรือใครจะเช่าก็ไม่ว่ากัน) ลองลดขนาดสเกลของชุดเจ้าสาว ด้วยการมองหาชุดเพื่อนเจ้าสาวสวย ๆ มาใส่ ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย
ขั้นตอนที่ 4 จ้างเวดดิ้งแพลนเนอร์
สำหรับบางคู่ที่จับต้นชนปลายไม่ถูกว่าจะเริ่มตรงไหน และอยากจ้างเวดดิ้งแพลนเนอร์ก็สามารถทำได้ แต่ด้วยระยะเวลาที่จำกัด คุณต้องมีธงในใจเพื่อที่ว่าจะได้ประสานงานกันได้อย่างราบรื่น เช่น อย่าพยายามจู้จี้มากเกินไป, อย่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา, มีสิ่งที่ต้องการอยู่ในใจ, เชื่อมั่นและไว้วางใจกันและกัน และปล่อยทุกอย่างให้เป็นหน้าที่ของเวดดิ้งแพลนเนอร์ เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 5 คอยเช็กสถานะทุกฝ่ายอยู่เสมอ
ด้วยความที่มีเวลาน้อย เวลาทุกนาทีจึงต้องใช้สอยอย่างประหยัด ดังนั้นการคอยเช็กสถานะกับทุกฝ่ายอยู่เสมอ จะทำให้เรารู้ก่อนล่วงหน้าว่ามีอะไรผิดพลาดและไม่เป็นไปตามแผนบ้าง เราจะได้หาแผนสำรองได้ทัน ถ้าเราแบ่งงานแล้วไม่ตามอัพเดทเกิดมีเรื่องอะไรมามารู้ตอนหลังก่อนวันงาน จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ทันไม่รู้ด้วยนะ
จริง ๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนไหนก็ล้วนแล้วมีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะด้วยระยะเวลาที่มีจำกัด สำคัญที่สุดจึงอยู่ที่การประเมินสถานการณ์ในทุกขณะ อันไหนทำได้ อันไหนทำไม่ได้ เราจะได้รู้ว่าควรแบ่งงานไหนออกไปบ้าง หรือควรตัดอะไรทิ้งไป หรือใครที่เคยผ่านประสบการณ์นี้มาแล้ว ยังไงก็อย่าลืมแชร์ให้เพื่อน ด้วยก็ได้นะคะ ^ ^
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Kapook.com
weddingideasmag.com และ lover.ly
|