รู้ทันกฏหมาย(รัก)ก่อนแต่งงาน : ขอความยินยอม
อยู่ด้วยกันฉันสามีภรรยา มีอะไรก็ค่อยพูดค่อยจากัน ส่วนใหญ่ภรรยาจะพูดมากกว่าสามี เราจึงมักเห็นชายไทยมีอาการสุขุมนุ่มลึกไม่ค่อยเจรจาหลังแต่งงาน อาการนี้ได้กลายเป็นเหตุผลหนึ่งที่สามีใช้อ้างเมื่อภรรยากล่าวหาว่า ทำไมไม่บอก
การจัดการสินสมรสบางอย่าง กฎหมายกำหนดว่าต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง เป็นต้นว่าการขาย จำนอง หรือทำประการใดๆเกี่ยวกับที่ดินที่ถือว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการให้เช่าเกินกว่า 3 ปี การให้เขาอาศัยในบ้าน หรือไปมีเรื่องมีราวแล้วทำสัญญาประนึประนอม หรือนำหลักทรัพย์ไปเป็นประกัน หรือกลักประกันกับตำรวจหรือศาล รวมทั้งการให้คนกู้ยืมเงิน จะต้องขอความยินยอมจากคู่สมรสเสียก่อน ที่สำคัญ การจะยกข้าวของเงินทองให้ใครก็ต้องยินยอมเช่นกัน เว้นเสียแต่เป็นการให้ตามฐานะนุรูปเพื่อการกุศลหรือการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา เช่น บริจาคช่วยน้ำท่วม ซื้อบัตร ฟังปาฐกาถาในงานดินเนอร์ ให้ของขวัญงานแต่ง
ยกตัวอย่างเช่น ประวิทย์ไปซื้อคอนโดให้สาวอื่นอยู่ ความมาแตกเมื่อ "ดาว" ภรรยาของเขาจับได้ แต่สามีก็หัวไวไหวตัว โดยบอกว่าไม่ได้มีอะไรกับหญิงคนนั้น คอนโดหลังนี้ "สิริมา" ต้องการซื้อแต่ไม่มีเงินจึงขอยืมเขา เห็นเป็นเพื่อนเก่าของภรรยาก็เลยใจอ่อนยอมให้ยืมเงิน แล้วช่วยติดต่อดูแลการเซ็นสัญญาเท่านั้น ผู้รู้กฎหมายอย่างดาว ขอเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายคอนโดทันทีแม้การซื้อคอนโดนั้นกฎหมายไม่ได้กำหนดเรื่องความยินยอม เพราะไม่ใช่การขาย แต่ซื้อแล้วเอาไปให้สิริมานี่ต่างหากที่ไม่ถูกต้อง จะอ้างว่าให้ยืมเงินก็ยิ่งเข้าล็อกของกฎหมายไปอีก เพราะการให้ใครกู้ยืมเงินต้องขอความยินยอมอยู่ดี งานนี้ ประวิทิย์เองยังปากแข็งว่าไม่ได้ปดภรรยา ถ้าจะพลาดก็เพราะพลั้งเผลอโดยสุจริตเท่านั้น
การขอความยินยอมนั้น ไม่ต้องถึงกับขออนุมัติเป็นทางการ เพียงบอกแล้วเขาไม่โต้แย้งคัดค้านก็ใช้ได้ เว้นแต่เป็นเรื่องที่ต้องมีขั้นตอนตามกฎหมาย เช่น จะจำนองที่ดินต้องจดทะเบียนจำนองที่สำนักงานที่ดิน เจ้าหน้าที่ก็ต้องให้คู่สมรสจัดการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
บางรายไม่ได้ยินได้ยอม แต่มารู้ทีหลังก็ไม่ว่ากระไร กฎหมายถือเป็นการให้สัตยาบัน คือรับรอง การที่ได้ทำไปโดยปราศจากความยินยอมในตอนต้น อย่างนี้จะมาโวยทีหลังแล้วขอเพิกถอนไม่ได้ เช่น สามีให้เพื่อนยืมเงินไปสองแสน มีกำหนดหนึ่งปี ทำสัญญากันไว้ดิบดี ตกลงให้เพื่อนชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน วันหนึ่งเพื่อนก็เอาเช็คค่าดอกเบี้ยมาให้ที่บ้าน พบภรรยาเลยให้เซ็นรับไว้ภรรยาก็ไม่ว่าอย่างไร เพราะถือว่าภรรยาได้ให้สัตยาบันการกู้ยืมนี้แล้ว จะมาอ้างเพิกถอนทีหลังไม่ได้
ตามปกติ เราไม่มีวันรู้ว่าสามีภรรยาเขาเออออห่อหมกยินยอมกันจริงไหม วันดีคืนดี สามีเอาภรรยามาร้องเพิกถอน คนนอกก็เสียหายได้ กฎหมายจึงป้องการการฮัวไว้ว่า ถ้าคนที่ได้รับผลจากการทำนิติกรรมนั้นๆ ได้ทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนแล้ว ก็เพิกถอนไม่ได้เช่นกัน สามีภรรยาได้แต่ไปจัดการเอาเรื่องกันเอง
กรณีแบบนี้มักเกิดกับการซื้อขายที่ดินที่ไปใส่ชื่อสามีเพียงคนเดียวไว้ เพื่อให้จัดการได้คล่องแคล่ว ต่อมาสามีไปแอบบขายที่ดินโดยไม่บอกภรรยามารู้ทีหลังจะจัดการเพิกถอนเอาที่ดินคืนไม่ได้ เพราะผู้ซื้อได้ซื้อไปโดยสุจริต และได้จ่ายค่าที่ดินแล้ว การเพิกถอนนิติกรรมนี้ไม่ใช่เดินไปบอกให้เขาถอน โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับที่ดิน จะไปบอกเจ้าพนักงานที่ดินไม่ได้ ต้องนำความไปห้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลเพิกถอน แล้วนำคำสั่งหรือคำพิพากษานั้นไปให้เจ้าพนักงานจดแจ้ง และกำหนดเวลาในการฟ้องร้อง ก็จำกัดไว้ว่าต้องทำภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้เหตุเพิกถอน หรือไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรม หมายความว่า ถ้าสามีนำสินสมรสไปให้ภรรยาน้อยเมื่อ 8 ปีที่แล้ว เราต้องฟ้องภายใน 1 ปีนับแต่วันที่รู้ แต่ถ้าสามีให้ไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แม้จะเพิ่งรู้ก็สายเกินไป ไม่ต้องกลัวว่าขอแล้วเขาหรือเธอไม่ยินยอม การดื้อแพ่งกแล้งไม่ยอมโดยไม่มีเหตุผล อีกฝ่ายหนึ่งก็อาศัยกฎหมายบังคับโดยการร้องขอต่อศาลให้สั่งอนุญาตแทนได้ หรือบางทีสามี หรือภรรยาอยู่ในสภาพที่ไม่อาจให้ความยินยอม เช่น อาการโคม่า หรือทิ้งร้างหายไปอีกฝ่ายก็อาศัยการร้องขอต่อศาลเป็นช่องทางในการทำนิติกรรมได้เช่นกัน