รู้ทันกฏหมาย(รัก)ก่อนแต่งงาน : ภาษีของสามี-ภรรยา

แต่งงานกันมันอยู่บนฐานแห่งความรักความเข้าใจก็ใช่อยู่ แต่เมื่อแต่งกันแล้วยังมีเรื่องเงินทองทรัพย์สินและภาระหน้าที่ติดตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าจะไม่ได้เค็มใส่กันสักเท่าไร แต่การทำมาหาได้ในระหว่างแต่งงานยังมีเรื่องของภาษี ที่ทั้งสามีภรรยามีหน้าที่ต้องนำมาจ่ายให้แก่รัฐ
เดี๋ยวนี้สิทธิของบุรุษและสตรีกำลังจะมีความเท่าเทียมกัน ภรรยาหลายบ้านจึงมีงานมีการเป็นของตัวเอง ทำให้มีรายได้มาเสริมครอบครัว ไม่ว่าจะในลักษณะที่เป็นการทำงานกินเงินเดือน ทำธุรกิจเป็นเรื่องเป็นราว หรือทำการค้าเล็กน้อยพอมีรายได้มาจุนเจือครอบครัว ไม่ว่าสามีจะพอใจในการทำมาหาได้ของภรรยาหรือไม่ กฎหมายในเรื่องภาษีก็จะต้องเข้ามามีบทบาท หากภรรยามีรายได้เช่นนี้ เพียงแต่รู้แล้วอย่าตกใจ กฎหมายกำหนดให้เงินได้ของภรรยาถือเป็นเงินได้ของสามีอีกด้วย
คุณสามีก็อย่าได้ดีใจถือโอกาสทวงรายได้มาใส่กระเป๋าตัวเอง แม้ความเป็นจริงของภรรยาจะเป็นผู้เก็บเงินได้ทั้งของตัวเองและของสามีเอาไว้ดูแลแต่เพียงฝ่ายเดียวก็ตาม ความสำคัญยังอยู่ที่ว่า กฎหมายถือว่า เงินได้ของภรรยาเป็นเงินได้ของสามี ผลก็คือ หน้าที่และความรับผิดชอบของสามีที่จะต้องนำเงินได้ของภรรยานี้มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีตามกฎหมายนั่นเอง
และภรรยาก็อย่าเพิ่งดีใจว่าปลดปลอดจากหน้าที่เสียภาษีทั้งหลายที่ตัวหามาได้ เนื่องจากสามีจัดการาให้ตามที่กฎหมายบังคับเพราะหากมีภาษีค้างชำระเกิดขึ้นเมื่อใด รัฐก็อาจแจ้งให้ฝ่ายภรรยาจัดการเสียโดยแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน อย่างนี้ภรรยาก็จะผูกพันที่จะต้องร่วมรับผิดกับสามีในการจ่ายภาษีที่ค้างชำระนั้น
ความจริงมันก็คนละกระเป๋าเดียวกัน แต่การนำมาคำนวณเงินได้เพื่อจ่ายภาษีในลักษณะนี้ ทำให้ฐานภาษีของสามีกว้างออกไปและนั่นหมายถึง อัตราภาษีที่ต้องจ่ายก็จะขยายสูงขึ้นไปด้วย เนื่องจากยิ่งมีเงินได้สุทธิมากเท่าไร ก็ยิ่งต้องเสียภาษีในอัตราสูงขึ้นเป็นการเสียหายทางการเงินแก่ครอบครัว ยังมีทางออกในทางกฎหมาย หากปรากฎว่าเงินได้ของภรรยาตกอยู่ในส่วนที่เป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน กฎหมายให้สิทธิภรรยาที่จะแยกวงมายื่นต่างหากจากสามีได้ โดยไม่ต้องถือเป็นเงินได้ของสามี ซึ่งเราคงเคยสังเกตเห็นได้จากแบบยื่นรายการเพื่อเสียภาษีว่า มีช่องของคู่สมรสเอาไว้ให้ใส่เป็นรายการต่างหาก ดังนั้น หากต้องการแยกจ่ายก็ยื่นไว้ในรายการฉบับเดียวกับสามี แต่แยกคำนวณภาษีต่างหากเท่านั้น อย่างนี้ก็ทำให้สามีภรรยาเสียภาษีน้อยลงไปด้วยเพราะเมื่อไม่นำไปรวมเงินได้ของสามี ฐานภาษีก็จะต่ำ อัตราภาษีก็จะพลอยต่ำไปด้วย
ในการยื่นรายการจะมีเรื่องการหักค่าลดหย่อนบุตรและค่าลดหย่อนเพื่อการศึกษาของบุตร ถ้าแยกกันยื่นจะถือโอกาสต่างคนต่างหักลดหย่อนไม่ได้ มีลูกอยู่คนเดียวก็ต้องแบ่งกันหัก จะมาตีขลุมหักทั้งสองคนไม่ได้ ต้องแบ่งกันคนละครึ่งกับสามี แบบนี้มีทีเด็ดอยู่ตรงที่สมีบางคนเอาลูกที่ติดกับภรรยาเก่ามาหักลดหย่อนเต็มอัตรา เพราะภรรยาคนปัจจุบันไม่มีบุตร อย่างนี้ก็ทำไม่ได้ เพราะถ้าจะแยกรายการกันออกไป แม้ลูกคนละท้องแม่ก็ต้องหักลดหย่อนคนละครึ่งอยู่นั่นเอง