ในสมัยก่อน การหมั้นและการแต่งนิยมให้เป็นคนละวันกัน บางคุ่หมั้นแล้วอีกสามเดือนหกเดือนค่อยแต่งบางบ้านหมั้นนานเป็นปีก็มี แต่สมัยนี้นิยมสะดวก ก็อาจหมั้นและแต่งในวันเดียวกันไปเลย เครื่องขันหมากสำหรับหมั้นและวันแต่งคนละวันกัน จะมีธรรมเนียมว่าวันหมั้นฝ่ายหญิงเป็นผู้กำหนดว่าจะให้มีอะไร และจำนวนมากน้อยเท่าใด อย่างไรก็ตาม ถ้าวันหมั้นและวันแต่งคนละวันกัน จะมีธรรมเนียมว่าวันหมั้นฝ่ายหญิงเป็นผู้รับภาระเรื่องการเลี้ยงหมั้น แล้ววันเลี้ยงวันแต่งงานเป็นหน้าที่ของฝ่ายชาย ซึ่งข้อกำหนดปรับเปลี่ยนได้ตามฐานะของทั้งสองฝ่าย
หาฤกษ์แต่งงาน และฤกษ์รับตัวเจ้าสาว
ความสำคัญของพิธีแต่งงานแบบจีนอยู่ที่ฤกษ์รับตัวเจ้าสาว ซึ่งทางพ่อแม่ของทั้งคู่จะนำดวงของเจ้าบ่าวและ
เจ้าสาวไปให้ซินแสตรวจและหาฤกษ์ให้ เมื่อได้ฤกษ์แล้วก็จะต้องตระเตรียมงานพิธี
สิ่งที่เจ้าบ่าวต้องเตรียม
ระหว่างนี้เจ้าบ่าวจะต้องให้หญิงหรือชาย ซึ่งมีลูกดกและคู่ชีวิตที่ยังมีชีวิตอยู่ มาทำพิธีปูเตียงในห้องหอ โดยจะวางส้ม 4 ลูกไว้บนเตียงทั้ง 4 มุม เมื่อปูเสร็จแล้วก็ต้องทิ้งไว้อย่างนั้น ยังไม่ให้เจ้าบ่าวนอน
การเตรียม"ขนมขันหมาก" ซึ่งเป็นขนมและผลไม้ต่างๆมามอบให้ครอบครัวเจ้าสาวก่อนวันงานจะต้องติด กระดาษแดงเป็นตัวอักษรภาษาจีน ที่แปลเป็นไทยว่า "ความสุขยกกำลังสอง"
สิ่งที่เจ้าสาวต้องเตรียม
ส่วนทางเจ้าสาวก็เตรียมสัมภาระที่จะนำติดตัวไปด้วย เช่น กระเป๋าเดินทาง เซฟใส่เครื่องประดับ หมอนปักรูปหงส์มังกร 1 คู่ บางรายก็อาจจะเพิ่มผ้านวมหรือเครื่องนอนชิ้นอื่นๆ รวมทั้งเสื้อเอี๊ยม เพื่อให้รู้ว่าเป็นเมียเอกนะ เจ้าสาวบางรายที่มีฐานะดีๆ สายคล้องคอเอี๊ยมก็จะเป็นสร้อยทอง และในเสื้อเอี๊ยมนี้จะใส่โหงวอิ๊กอี้ ซึ่งเป็นผลไม้ตากแห้ง และต้นชุ่งเช่าไว้สำหรับนำไปปลูกที่บ้านเจ้าบ่าวพร้อมกาละมัง ลายนกคู่ กระโถนกับกาตอเฉียะ (ไม้วัดและกรรไกรตัดผ้า) รวมทั้งเข็มและด้าย เพื่อให้รู้ว่าเจ้าสาวเป็นคนเย็บปักถักร้อยเก่ง ข้าวของเครื่องใช้จะต้องเป็นสีแดง หรือสีชมพูเท่านั้น
3 วันก่อนวันงาน เจ้าสาวสมัยเก่าจะต้องมังหมิ่ง เพื่อกันขนที่รกใบหน้าออก ถือเป็นเคล็ดลับเสริมความงามแบบโบราณอย่างหนึ่ง
ในคืนก่อนวันงาน ก็จะอาบน้ำใบทับทิมและใบเซียงเช่า เพราะเชื่อกันว่าจะช่วยชำระล้างสิ่งชั่วร้ายให้หมดไป
จากนั้นจะสวมชุดใหม่และนั่งลงให้หญิงที่มีชีวิตคู่ที่สมบูรณ์พูนสุข หวีผมให้พร้อมกับกล่าวอวยพรไปด้วย
และในวันแต่งงาน เจ้าสาวจะต้องเสียบปิ่นปักผมกับกิ่งทับทิมไว้บนเรือนผม เพราะเชื่อว่ากิ่งทับทิมจะช่วยให้คนรักใคร่เอ็นดู และหมายถึงสาวบริสุทธิ์
สำหรับเรื่องปิ่น เนื่องจากคนสมัยนี้คิดว่าที่ต้องเสียบปิ่น เพราะบนปลายปิ่นมีคำว่า "หยู่อี่" ซึ่งหมายความว่า
"สมหวัง" แต่แท้จริงแล้วเป็นเคล็ดลับของคนโบราณ เพราะเจ้าบ่าวบางรายไม่เคยมีประสบการณ์การเข้าหอมาก่อน
เมื่อมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงเป็นครั้งแรก บางรายจึงหลั่งไม่หยุด และบางทีอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ คนเฒ่าคนแก่จึงสอนเจ้าสาวไว้ว่า หากเจอเหตุการณ์เช่นนี้ ให้เอาปิ่นปักหลังเจ้าบ่าวเพื่อเขาจะได้รู้สึกตัว
เมื่อใกล้ถึงเวลาที่ทางเจ้าบ่าวมารับตัว เจ้าสาวจะต้องรับประทานอาหารกับพ่อแม่พี่น้องของตนเป็นมื้อสุดท้าย โดยมีแม่สื่อคอยคีบอาหารให้พร้อมกับกล่าวอวยพรจนได้ฤกษ์ เจ้าบ่าวก็จะนั่งรถคันโก้ผูกโบว์สีชมพูที่กระโปรงหน้ารถ
มายังบ้านเจ้าสาว ในการรับตัวเจ้าสาว เจ้าบ่าวจะต้องนำหมูดิบมามอบให้แม่เจ้าสาว แทนยาบำรุงที่ท่านอุตส่าห์ตั้งท้องเจ้าสาวมา เมื่อพบหน้าเจ้าสาวแล้ว ทั้งคู่ก็ยังต้องผ่านด่านของผู้ที่มากั้นประตู แจกอั่งเปาจนหนำใจเสียก่อน จึงจะลงจากห้องมาทำ
พิธีที่ชั้นล่างได้
ถึงตอนนี้ ทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะต้องไหว้ฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่ (ที่เรียกว่า "ตี่จูเอี๊ย") ไหว้เทพเจ้าเตาไฟ ซึ่งอยู่ในครัว และ
ไหว้บรรพบุรุษของเจ้าสาวถ้าหากปู่ย่าตายายของเจ้าสาวยังมีชีวิตอยู่ ก็ต้องไหว้กับตัว เพื่อบอกกล่าวให้ท่านทราบว่าเจ้าสาวกำลังจะจากครอบครัวไปแล้ว จากนั้นจึงทำการคารวะน้ำชาพ่อแม่เจ้าสาว
เมื่อเสร็จสิ้นพิธีทางบ้านเจ้าสาว ก็มาถึงตอนที่เจ้าสาวจะต้องนั่งรถไปกับเจ้าบ่าว พร้อมด้วยคนถือตะเกียง ซึ่งจะต้องเป็นญาติผู้ชายของฝ่ายหญิง รวมทั้งคนหาบขนม ในการนี้พ่อเจ้าสาวจะเป็นคนจูงเจ้าสาวขึ้นรถ พลางกล่าวอวยพร พร้อมกับพรมน้ำใบทับทิมให้ด้วยว่า"ขอให้น้ำศักดิ์สิทธิ์นี้เปลี่ยนคุณหนูให้เป็นคุณหญิง" และก่อนที่เจ้าสาวจะเข้าบ้านเจ้าบ่าว ถ้าหากเจ้าสาวมีประจำเดือนก็ต้องก้าวข้ามกระถางที่จุดไฟไว้ จึงจะเข้าบ้านได้ แต่ถ้าหาเจ้าสาวไม่มีประจำเดือน ก็ไม่จำเป็น ทันทีที่เข้ามาในบ้าน บ่าวสาวจะไหว้ฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่ ไหว้เทพเจ้าเตาไฟ และไหว้บรรพบุรุษของเจ้าบ่าว แบบเดียวกับที่ทำที่บ้านเจ้าสาว จากนั้นจึงคารวะน้ำชาพ่อแม่ และยกน้ำชาให้ญาติผู้ใหญ่ พิธีการนี้ ถือเป็นการแนะนำให้ญาติๆรู้จักสะใภ้หน้าใหม่ไปด้วยในตัว และท่านก็จะแจกอั่งเปาพร้อมทั้งอวยพรให้เป็นการตอบแทน
บ่าวสาวจะทานบัวลอยไข่หวานด้วยกัน เพื่อทั้งคู่จะได้รักใคร่ปรองดอง และหวานชื่นเหมือนรสชาติและสีของขนมพอรุ่งเช้าถัดจากวันแต่งงาน เจ้าสาวจะต้องตื่นขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่ลูกสะใภ้ปรนนิบัติพ่อแม่ สามีด้วยการยกน้ำล้างหน้าให้ท่าน บางครอบครัวอาจจะปฏิบัติตามธรรมเนียมนี้ 3 วันหรือบางราย 12 วัน
3 วันหลังจากวันแต่งงาน น้องชายของภรรยาจะเป็นฝ่ายไปรับคู่สามีภรรยาหน้าใหม่ กลับมาเยี่ยมและรับประทานอาหารที่บ้านเจ้าสาว และเจ้าสาวจะได้รับการต้อนรับเยี่ยงแขกคนหนึ่ง
ผู้เขียนได้ทำพิธีหมั้นและแต่งในวันเดียวกัน โดยทำตามขั้นตอนนี้ค่ะ
-
เจ้าสาวให้แม่ปักปิ่นยู่อี่
-
เจ้าสาวขึ้นไปถือพัดรอบนห้อง
-
เจ้าบ่าวยกขบวนมาถึงบ้าน ฝ่ายหญิงส่งน้องชายมาเชิญเจ้าบ่าวลงจากรถ พาเข้าบ้านเจ้าสาว
-
ญาติเจ้าสาวต้อนรับด้วยน้ำชา
-
เจ้าบ่าวผ่านประตูเงินประตูทองเอาช่อดอกไม้มารับเจ้าสาวบนห้อง
-
เจ้าบ่าวและเจ้าสาวมาที่ห้องสู่ขอ เจ้าสาวนั่งด้านขวามือเจ้าบ่าว
-
ผู้ใหญ่ทั้ง 2 ฝ่าย พูดคุยสู่ขออย่างเป็นทางการ
-
สวมแหวน
-
ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายกล่าวอวยพร
-
เจ้าบ่าวยกพานสินสอดให้ผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาว
-
เจ้าบ่าวเจ้าสาวจุดธูปไหว้ฟ้าดิน เจ้าที่
-
ทานขนมอี๊
-
แลกขนมแต่งงาน และส้มเช้ง
-
นำสินสอดทองหมั้นทั้งหลายเก็บลงในเซฟ
-
เจ้าสาวขึ้นรถไปบ้านเจ้าบ่าวโดยมีคุณพ่อจูงขึ้นรถ น้องชายถือตะเกียงและกล่องเซฟนำหน้า
-
ถึงเรือนหอให้ทันเวลาฤกษ์ ให้น้องชายลงรถก่อนและนำทางเข้าบ้านเรือนหอ
-
ไหว้ฟ้าดิน เจ้าที่
-
ยกน้ำชาพ่อแม่เจ้าบ่าว และ พี่ๆ
-
ทำพิธีส่งตัวเข้าเรือนหอ และห้องหอ เจ้าสาวห้ามนั่งบนเตียง ห้ามส่องกระจกในห้องหอ
-
นำของหมั้นทั้งหมด (ไม่รวมขนม) วางบนเตียง โดยไม่ต้องหยิบส้มที่วางไว้ออก เปิดตะเกียงทิ้งไว้ 3 วัน
-
ทานขนมอี๊
-
เสร็จพิธี
ขันหมากที่ฝ่ายเจ้าบ่าวถือมา มีพานใส่เงินสินสอด พานใส่ทองสินสอด พานใส่ขนมแต่งงาน พานส้มเช้ง แล้วก็พานแหวนหมั้นค่ะ ของเราจัดแบบง่ายๆตามนี้ ลองเอาไปคุยกับทางผู้ใหญ่แล้วปรับเปลี่ยนเอาตามความเหมาะสมนะคะ เพราะแต่ละบ้านอาจทำไม่เหมือนกันค่ะ
|