“วิวาห์บาบ๋า” วัฒนธรรมอันงดงามของชาวภูเก็ต
ประเพณีการแต่งงานแบบชาวภูเก็ต
ถ้าเอ่ยถึง ภูเก็ต ทุกคนต้องรู้จัก ว่าเป็น เกาะสวรรค์แห่งทะเลอันดามัน มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งธรรมชาติของชายหาด ที่มีทรายขาวละเอียดและน้ำทะเลใส อาคารแบบชิโนโปรตุกีส ที่บ่งบอกว่าเป็นชุมชนชาวจีน อาหารหลากหลายชนิด ประเพณีกินเจ แต่คงมีไม่มากนักที่จะคุ้นหูกับการแต่งงานแบบ “บาบ๋า”
เอ่ยชื่อจังหวัด “ภูเก็ต” คงไม่มีใครไม่รู้จัก เกาะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และเป็นจังหวัดท่องเที่ยวทางทะเลชื่อดังของภาคใต้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไกลไปทั่วโลก จนได้รับสมญานามว่าเป็น “ไข่มุกแห่งอันดามัน” ที่มากไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติอันงดงาม และเพียบพร้อมไปด้วยประวัติศาสตร์ ประเพณีอันเก่าแก่และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ดังเช่น วัฒนธรรม“บาบ๋า”อันโดดเด่นงดงาม
วัฒนธรรมอันโดดเด่นของกลุ่มคนชาวภูเก็ตจำนวนหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า “เพอรานากัน” เป็นภาษามาเลย์ แปลว่า “ผู้ที่เกิดในท้องถิ่น” หมายถึง ลูกครึ่งที่เกิดจากชาวจีนแต่งงานกับชาวท้องถิ่นที่เป็นมาเลย์หรืออินโดนิเซีย หาก เป็นชายเรียกว่า “บาบ๋า” เป็นหญิงเรียก “ยอนย้า” ”ในประเทศสิงคโปร์ มาเลยเซีย นิยมใช้ “เพอนารากัน” ในการเรียกกลุ่มชน
ส่วนที่จังหวัดภูเก็ตนิยมเรียกว่า “บาบ๋า” หมายถึงกลุ่มชนและเรียกทั้งชายและหญิงว่า “บาบ๋า” คือลูกผสมที่เกิด จากพ่อเป็นชาวจีนกับแม่ที่เป็นคนท้องถิ่น ซึ่งชาวบาบ๋าที่ภูเก็ตมีการรวมกลุ่มกันเป็นอย่างดี แล้วก็มีการสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของกลุ่มคนบาบ๋าไว้มากมาย
สำหรับหนึ่งในประเพณีอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ก็คือ “ประเพณีการแต่งงานของบาบ๋า” หรือ “วิวาห์บาบ๋าภูเก็ต” ซึ่ง เป็นประเพณีการออกเรือนของบ่าวสาวแบบโบราณ ที่ชาวบาบ๋า จังหวัดภูเก็ตยังคงรักษาขนบธรรมเนียมนี้ไว้ และร่วมกันสืบทอดอนุรักษ์ไว้ไม่ให้หายไปจากรุ่นสู่รุ่น
“คนบาบ๋าที่ภูเก็ตเริ่มหันมาให้ความสนใจในการแต่งงานแบบบาบ๋ามากขึ้น เสน่ห์ของการแต่งงานของชาวบาบ๋า จุดเด่น ที่สำคัญมากๆ เลย ก็คือ ความสวยงาม ความอลังการ และจุดเด่นที่ตามมาอีกเรื่องก็คือ ความกตัญญู ความกลมเกลียวใน ครอบครัว และถือว่าเป็นความขลังของการแต่งงานที่ชาวบาบ๋าได้ร่มกันอนุรักษ์ไว้”
การผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมของผู้อพยพชาวจีนกับวัฒนธรรมคนพื้นถิ่น ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือน อาหารการกินและประเพณี คือส่วนผสมที่หลอมรวมเป็นวัฒนธรรมของเมือง “ภูเก็ต” ในปัจจุบัน
เอกลักษณ์ “วิวาห์บาบ๋า” ภูเก็ต
การสร้างครอบครัว ขยายขนาดของสังคม เป็นกิจกรรมที่ขาดไม่ได้ในสังคมมนุษย์ทุกที่ ประเพณี “วิวาห์บาบ๋าภูเก็ต” ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมของชาวภูเก็ตเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน ประมาณได้ว่าเป็นประเพณีที่มีความเป็นมาย้อนหลัง ไม่ต่ำกว่า 70-80 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวจีนมีอิทธิพลมากในภูเก็ต ผสมผสานกับวัฒนธรรมของชุมชนจีนในปีนัง ประเทศมาเลเซียและวัฒนธรรมท้องถิ่นภูเก็ตเองด้วย
ความพิเศษของพิธีแต่งงานบาบ๋า
มีหลายอย่างด้วยกัน โดยเริ่มตั้งแต่ชุดแต่งงานของ บ่าว-สาว ชุดของเจ้าบ่าวมีลักษณะ เป็นสูทแบบฝรั่ง เพื่อเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมั่งคั่ง และการดำเนินชีวิตของชาวพารานากัน ที่ค้าขายกับบริษัท ชาวต่างชาติ ส่วนชุดเจ้าสาว จะใส่ชุดปันจูปันจัง เป็นชุดยาวที่มีความงดงามด้วยลายผ้าเสื้อตัวในเป็นเสื้อลูกไม้สีขาวคอ ตั้งแขนจีบ นุ่งผ้าลายปาเต๊ะ สวมเสื้อครุยผ้าป่านรูเปีย หรือผ้ามัสลินปักลวดลาย ซึ่งจะเลือกสีคลุมโทนเดียวกับผ้านุ่ง สวมใส่เครื่องประดับประจำตระกูล ติดเครื่องประดับทองชุดใหญ่ ที่เรียกว่า โกสัง มีเข็มกลัดชิ้นใหญ่ และอีก 3 ชิ้นเล็ก ใส่กำไลข้อเท้า สวมรองเท้าปักดิ้น หรือลูกปัด ทรงผมมีเอกลักษณ์ คือ ทรงผมเกล้าสูง มีชื่อเรียกว่า ทรงซักอีโบย และที่ สำคัญ คือ เจ้าสาวต้องใส่มงกุฎทอง “ดอกไม้ไหว” ที่ทำด้วยทองคำ
วัฒนธรรมบาบ๋านั้นมีมากหลายและมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งตอนนี้ทางสมาคมไทยเพอรานากันได้จัดสร้างพิพิธภัณฑ์บาบ๋า ภูเก็ต โดยเอาตึกเก่าที่เป็นแลนด์มาร์คของภูเก็ตมาทำเป็นพิพิธภัณฑ์ แล้วเราจะทำเรื่องวิถีชีวิตของชาวบาบ๋าทั้งหมด
การแต่งกายของคนภูเก็ตจะเป็นการผสมผสานของหลายชนชาติออกมาอย่างสวยงาม ซึ่งปัจจุบันชาวภูเก็ตยังคงรักษาวัฒนธรรมการแต่งกายแบบจีนบาบ๋าไว้โดยปรับเปลี่ยนรายละเอียดให้เหมาะสมกับยุคสมัย โดยชุดแต่งกายที่นำเสนอจะเป็นการแต่งกายของคนภูเก็ต เมื่อสมัยร้อยกว่าปีมาแล้ว ซึ่งเป็นการผสมผสานของหลายชนชาติออกมาอย่างสวยงาม
ชุดเสื้อคอตั้งแขนจีบ
ชุดนี้ใช้ได้ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้สูงอายุ ใช้ในชีวิตประจำวันในโอกาสไปตลาด ไปวัด ไปไหว้พระที่ศาลเจ้า ผ้านุ่งเป็นผ้าปาเต๊ะ ตัวเสื้อความยาวระดับเอวชายเสื้อแต่งขอบด้วยลูกไม้ คอตั้งติดคอผ่าหน้าติดกระดุมทองหรือเข็มกลัดแถว แขนเสื้อยาวจีบปลายแขน มีกระเป๋าใบใหญ่สองข้าง
ชุดเจ้าสาว
มีลักษณะเครื่องแต่งกายและทรงผมแบบเดียวกับชุดคหปตานี ต่างกันที่เสื้อครุยเจ้าสาวส่วนใหญ่จะใช้ผ้าลูกไม้โปร่งหรือผ้าป่านแก้ว ส่วนผ้านุ่งจะใช้ปาเต๊ะสีสด รอบมวยผมเป็น ฮั่วก๋วน หรือ มงกุฎเจ้าสาว ประดับด้วยดอกไม้ไหวซึ่งทำจากทองคำ ปักปิ่นทองคำ เครื่องประดับเป็นทองและเพชรอลังการ ใส่ตุ้มหูระย้า สวมสร้อยคอทอง เรียก ?หลั่นเต่ป๋าย? ที่หน้าอกเสื้อจะประดับประดาด้วยปิ่นตั้งทองคำเหมือนรูปดาวเต็มหน้าอก ห้อยสายสร้อยทอง สวมแหวน กำไลมือ กำไลข้อเท้า สวมรองเท้าปักดิ้นเงินดิ้น ส่วนชุดเจ้าบ่าวจะหันมานิยมสวมสูทแบบตะวันตก แต่ยังนำจี้สร้อยคอหรือปิ่นตั้งมาติดที่ปกเสื้อ
ชุดย่าหยา
เป็นชุดลำลอง ตัวเสื้อตัดด้วยผ้าลูกไม้หรือผ้าป่านรูเบีย แขนยาว เข้าเอวรัดรูป ปักลายฉลุทั้งที่คอเสื้อ ชายเสื้อ และปลายแขน ตัวเสื้อด้านหน้าปลายแหลมยาว ความยาวตัวเสื้อจะอยู่ระดับสะโพกบน ปกเสื้อด้านหน้าแบะออกสำหรับติดโกสังหรือกระดุมทองฝังเพชรที่ร้อยเชื่อมด้วยสร้อยทอง ส่วนผ้านุ่งปัจจุบันนิยมใช้ผ้าปาเต๊ะปักเลื่อม เพื่อสนับสนุนงานฝีมือของกลุ่มแม่บ้านในชุมชน
ชุดนายเหมืองและภรรยา
ชุดนายเหมือง ประกอบด้วยกางเกงและเสื้อคอตั้ง แขนเสื้อยาว มีกระเป๋าคล้ายชุดราชประเต็น สวมหมวกกะโล่ สำหรับผู้สูงวัยก็จะใช้ไม้เท้าด้วย ส่วนภรรยา หากออกงานพิธีการสำคัญ ๆ จะแต่งชุด เสื้อครุย ประกอบด้วยเสื้อตัวในเป็นเสื้อคอตั้งปลายแขนจีบเหมือนชุดเสื้อคอตั้งแขนจีบทั่วไป นุ่งผ้าปาเต๊ะ สวมทับด้วยเสื้อครุยยาวผ้าป่านรูเบียหรือผ้ามัสลินมีลวดลาย ติดเข็มกลัดชิ้นใหญ่เป็นชุด เรียกว่า ชุดโกสัง ซึ่งมี 3 ตัว ใส่กำไลข้อเท้า สวมรองเท้าปักดิ้นหรือลูกปัดทรงผม เกล้าผมทรงสูง ด้านหน้าเรียบตึง ด้านหลังโป่งออกเรียก “ชักอีโบย” เกล้ามวยไว้บนศีรษะ ส่วนด้านข้างสองข้างดึงให้โป่งออกเรียกว่า “อีเปง” มวยด้านบนดึงขึ้นเป็นรูปหอยโข่ง ใช้ดอกมะลิหรือดอกพุดตูม ประดับรอบมวยผม แล้วปักปิ่นทอง
“เวลามาภูเก็ตอย่านึกถึงแค่ทะเลป่าตอง ความเป็นภูเก็ตจริงๆ อยู่ในเมือง เมืองภูเก็ตน่าสนใจมาก โดยเฉพาะถนนถลาง มาชมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ดั้งเดิมของคนบาบ๋า ความเป็นอยู่ของบาบ๋า ส่วนใหญ่จะอยู่บ้านตึกแถว แล้วตึกแถวจะมีลักษณะพิเศษคือบ้าน เพราะฉะนั้นวิถีชีวิตของชาวภูเก็ตจึงน่าสนใจ อยากชวนให้ทุกคนมาเที่ยวชมเมืองภูเก็ตกันเยอะๆนะคะ”
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://live.phuketindex.com/th/baba-phuket-5070.html
|